ในปี พ.ศ. 2567 พบว่า ภาพรวมคะแนนในหมวดนี้เพิ่มขึ้นจาก 1.23 คะแนน ในปี พ.ศ.2566 เป็น 1.41 คะแนนในปี พ.ศ. 2567 (เพิ่มขึ้น 0.18 คะแนน) โดยธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจากการรับหลักการ Equator Principles ซึ่งต้องปฏิบัติตาม IFC Performance Standards ส่งผลให้ธนาคารได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นในหมวดนี้หลากหลายข้อ เช่น การกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารป้องกันผลกระทบทางลบต่อพื้นที่ที่มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์สูง (High Conservation Value - HCV - areas) พื้นที่ระดับ I-IV ตามการจัดหมวดขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature - IUCN) พื้นที่มรดกโลกยูเนสโก (UNESCO World Heritage) พื้นที่อนุรักษ์ตามอนุสัญญาแรมซาร์ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Convention on Wetlands) และประชากรสัตว์ที่อยู่ในบัญชีแดงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของไอยูซีเอ็น (IUCN Red List of Threatened Species) (ข้อ 2-6)
ธนาคารกรุงเทพได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นในหมวดนี้ จากการมีนโยบายการพิจารณาสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อโครงการที่ผนวกผลกระทบด้าน ESG ซึ่งรวมถึงการก่อผลกระทบต่อสัตว์ป่าหรือพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ตาม IUCN Red List (ข้อ 6)
ธนาคารกรุงไทยได้รับคะแนนลดลงในหมวดนี้ เนื่องจากไม่พบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารต้องป้องกันผลกระทบทางลบต่อพื้นที่ระดับ I-IV ตามการจัดหมวดขององค์กรระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ พื้นที่มรดกโลกยูเนสโก และพื้นที่อนุรักษ์ตามอนุสัญญาแรมซาร์ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (ข้อ 3-5) (เป็นข้อที่ธนาคารเคยได้คะแนนในปีก่อน แต่ไม่ได้คะแนนในปีนี้)