ผลการประเมินหมวดสิทธิมนุษยชน

ในปีนี้พบว่า ธนาคารเกือบทุกแห่ง (ยกเว้นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) ได้รับคะแนนในหมวดนี้ โดยมีธนาคาร 3 แห่งที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้นในหมวดนี้ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกสิกรไทย เนื่องการจากลงนามเข้าร่วมมาตรฐานสากล การประกาศนโยบายฉบับใหม่ด้านสิทธิมนุษยชน และการเปิดเผยนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมโครงสร้างการปฏิบัติของธนาคารเพิ่มเติม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ธนาคารกรุงไทย ได้คะแนนเพิ่มจากการประกาศรับหลักการข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact - UNGC) ในปี 2567 ซึ่งกำหนดให้การปฏิบัติงานและกลยุทธ์ของภาคธุรกิจต้องเป็นไปตามหลักการที่ได้รับการยอมรับโดยสากล ในขอบเขตเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ธนาคารได้รับคะแนนพื้นฐานในข้อ ข้อ 3-7 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารเคารพในสิทธิมนุษยชนทุกข้อตามหลักการ UNGPs และปฏิบัติตามแนวทางที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence - HRDD) และต้องจัดตั้งหรือมีส่วนร่วมในกลไกรับเรื่องร้องเรียนระดับปฏิบัติการจากปัจเจกและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ
  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ได้คะแนนเพิ่มจากการประกาศนโยบายไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ (zero-tolerance Policy) ในกระบวนการการสรรหาและคัดเลือกบุคลากร การบรรจุและแต่งตั้งบุคลากร การประเมินผลการปฏิบัติงาน ระบบค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ และการปฏิบัติงาน เป็นปีแรกในปีนี้ (ข้อ 2)
  • ธนาคารกสิกรไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้นในขอบเขตบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ของธนาคารในเกณฑ์ประเมินข้อ 3-7 จากการเปิดเผยนโยบายด้านการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบของบลจ. เพิ่มเติม โดยมีการพิจารณาประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งคาดหวังให้ธุรกิจที่ธนาคารจะเข้าไปลงทุนแสดงความรับผิดชอบของธุรกิจในด้านสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องไปตามกรอบของหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs)
  • ธนาคารทหารไทยธนชาต ได้คะแนนมากที่สุดในหมวดนี้ เนื่องจากธนาคารมีนโยบายที่กำหนดให้ลูกค้าของธนาคารต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่าธนาคารอื่น ๆ ทั้งจากการรับหลักการสากลมาเป็นแนวปฏิบัติ และการกำหนดเงื่อนไขในการให้บริการทางการเงินของธนาคาร โดยธนาคารทหารไทยธนชาต กำหนดให้ลูกค้าต้องมีความรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายของประเทศ รวมถึงกรอบการดำเนินงานระดับโลกที่กำหนดในหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน การกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารต้องป้องกันความขัดแย้งเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน และใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยได้รับความยินยอมโดยสมัครใจที่เป็นอิสระและได้รับข้อมูลล่วงหน้า (free, prior, and informed consent - FPIC) จากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากใช้ที่ดินของธุรกิจก่อนการดำเนินธุรกิจ (ข้อ 10) ซึ่งเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่ได้รับคะแนนในข้อนี้

หมวดสิทธิมนุษยชนประเมินตามเกณฑ์ประกอบด้วย 15 ข้อดังต่อไปนี้

หัวข้อต่อไปนี้ใช้ประเมินนโยบายระดับปฏิบัติการของสถาบันการเงิน

1. สถาบันการเงินเคารพในสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights)

2. สถาบันการเงินมีนโยบายไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ (zero-tolerance policy) ในกระบวนการจ้างงานและในการปฏิบัติงาน ทั้งบนฐานของ เพศสภาวะ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ รสนิยมทางเพศ และสมรรถภาพทางกาย

หัวข้อต่อไปใช้สำหรับบริษัทที่สถาบันการเงินลงทุนหรือให้การสนับสนุนทางการเงิน

3. บริษัทเคารพในสิทธิมนุษยชนทุกข้อตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights)

4. บริษัทมีความทุ่มเทเชิงนโยบายที่จะแสดงความรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชน

5. บริษัทมีกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (human rights due diligence) เพื่อระบุ ป้องกัน บรรเทา และรายงานวิธีที่บริษัทจัดการกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน

6. บริษัทมีกระบวนการที่นำไปสู่การเยียวยาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนเชิงลบใดๆ ก็ตาม ที่บริษัทเป็นผู้ก่อ หรือมีส่วนในการก่อ

7. บริษัทจัดตั้งหรือมีส่วนร่วมในกลไกรับเรื่องร้องเรียนระดับปฏิบัติการ จากปัจเจกและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ

8. บริษัทเคารพในสิทธิของชนพื้นเมืองในการดำเนินงานของบริษัท

9. บริษัทป้องกันความขัดแย้งเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน และใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการใช้กระบวนการปรึกษาหารืออย่างมีความหมายกับชุมชนท้องถิ่น และได้รับความยินยอมโดยสมัครใจโดยได้ข้อมูลล่วงหน้า (free, prior, and informed consent - FPIC) ในประเด็นที่เกี่ยวกับชนพื้นเมือง

10. บริษัทป้องกันความขัดแย้งเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน และใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยได้รับความยินยอมโดยสมัครใจที่เป็นอิสระและได้รับข้อมูลล่วงหน้า (free, prior, and informed consent - FPIC) จากผู้ใช้ที่ดินที่เกี่ยวข้องก่อนเท่านั้น

11. บริษัทให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเคารพสิทธิเด็ก

12. บริษัทให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเคารพสิทธิของผู้พิการ

13. บริษัทไม่ยอมรับให้มีการตั้งถิ่นฐานใดๆ รวมถึงการตั้งถิ่นฐานกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนเอง ในเขตที่ถูกบุกรุก (occupied territories) เพื่อเคารพในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

14. บริษัทบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปในนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและนโยบายปฏิบัติการของบริษัท

15. บริษัทใส่หลักเกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชนเป็นเงื่อนไขในสัญญาที่ลงนามกับผู้รับเหมาช่วงและคู่ค้า