ผู้ประกอบการฟินเทคหน้าใหม่กับการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินในไทย: โอกาสและความท้าทาย

22 สิงหาคม 2566

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกที่มีแนวโน้มจะทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการ ‘ฟินเทค’ (FinTech) ซึ่งหมายถึงการนำเทคโนโลยีมายกระดับบริการทางการเงิน ถูกคาดหวังจากหลายภาคส่วนว่าจะสามารถขยายการให้บริการทางการเงิน (financial inclusion) ไปยังกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงการเงินในระบบ อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง ผู้ประกอบการฟินเทคในไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่หลายประการด้วยกัน

จากการทบทวนวรรณกรรมว่าด้วยนิยาม “การเข้าถึงบริการทางการเงิน” คณะวิจัยพบว่ากิจกรรมดังกล่าวประกอบด้วยเสาหลักสำคัญสามประการ ได้แก่ 1) การเข้าถึง (Access) 2) การใช้บริการ (Usage) และ 3) คุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน (Quality) (GPFI, 2016; Cámara & Tuesta, 2017; Appaya, 2021) โดยแต่ละองค์ประกอบมีความหมายดังนี้

1) การเข้าถึง (Access) หมายถึง ความสามารถในการเข้าถึงบริการทางการเงินของผู้ที่ต้องการใช้บริการ โดยพิจารณาจากช่องทางของผู้ให้บริการ (เช่น สาขาของสถาบันการเงิน ตัวแทนให้บริการทางการเงิน ตู้เอทีเอ็ม) และข้อกำหนดหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ของสถาบันการเงิน เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ จำนวนและประเภทของเอกสารประกอบการรับบริการ

2) การใช้บริการ (Usage) หมายถึง ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินควรตอบโจทย์ความต้องการขั้นพื้นฐานของผู้ใช้บริการทุกกลุ่มได้อย่างเหมาะสม โดยครอบคลุมกลุ่มประชากรฐานราก ผู้มีรายได้น้อย และผู้ด้อยโอกาส ตัวอย่างผลิตภัณฑ์และบริการขั้นพื้นฐาน เช่น บัญชีเงินฝาก สินเชื่อ และบริการด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงส่วนบุคคลหรือธุรกิจ (ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ฯลฯ)

3) คุณภาพ (Quality) หมายถึง การให้บริการอย่างมีความรับผิดชอบ เป็นธรรม เท่าเทียม โปร่งใส ปลอดภัย ปราศจากช่องว่างสำหรับฉ้อโกง และคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการอย่างครอบคลุมเหมาะสม โดยถือเป็นความรับผิดชอบของทั้งผู้ให้บริการและหน่วยงานการกำกับดูแลที่จะต้องออกแบบ ดูแล ควบคุม และติดตามตรวจสอบคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ

คณะวิจัยนำเสาหลักสามประการดังกล่าวมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจำแนกฟินเทคในประเทศไทยที่มุ่งขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยพบว่า ในบรรดาผู้เล่นฟินเทคทั้งหมดในไทย 61 ราย มีผู้เล่นฟินเทคที่กล่าวได้ว่ามุ่งขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน มีผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับเสาหลักสามประการเพียง 16 ราย (ร้อยละ 26.23) โดยเป็นฟินเทคประเภทปล่อยกู้จำนวน 15 รายและประเภทการชำระเงิน 1 ราย ในจำนวน 16 รายนี้ พบว่ามีผู้เล่นฟินเทคที่ประกาศเป้าหมายองค์กรอย่างชัดเจนว่ามุ่งขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินจำนวน 14 ราย (ร้อยละ 87.5)

ในลำดับต่อมา คณะวิจัยดำเนินการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้มีส่วนได้เสีย 21 ราย แบ่งเป็น ผู้ประกอบการฟินเทคหน้าใหม่ จำนวน 10 ราย (แบ่งเป็นฟินเทคประเภทปล่อยสินเชื่อดั้งเดิมจำนวน 7 แห่ง และฟินเทคประเภทระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิง (crowdfunding) จำนวน 3 แห่ง) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน 3 ราย หน่วยงานกำกับดูแล 3 แห่ง องค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงิน 4 แห่ง และตัวแทนผู้บริโภค 1 ราย เพื่อทำความเข้าใจกับโอกาสและความท้าทายที่ฟินเทคหน้าใหม่ประสบในการดำเนินธุรกิจ และการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน

จากการสัมภาษณ์เชิงลึก คณะวิจัยประมวลข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของผู้ให้สัมภาษณ์ เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 4 หมวดหมู่ ได้แก่ นโยบายด้านข้อมูล นโยบายด้านการลดต้นทุนอื่นนอกเหนือจากต้นทุนข้อมูล นโยบายด้านการปลดล็อกกฎระเบียบ และนโยบายด้านการเสริมสร้างศักยภาพองค์กร โดยสรุปแต่ละหมวดหมู่ได้ดังนี้

 

1. นโยบายข้อมูลเปิด (Open Data) และข้อมูลทางเลือก (alternative data)

1.1 การออกกฎหมายที่กำหนดให้สถาบันการเงินต้องเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ให้บริการที่เป็นบุคคลที่สามเมื่อลูกค้าร้องขอ

เนื่องจากฟินเทคหน้าใหม่โดยนิยามย่อมไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เท่ากับสถาบันการเงินดั้งเดิมที่มีลูกค้าในมือจำนวนมากอยู่แล้ว ปัจจัยสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ฟินเทคแข่งขันได้อย่างสมน้ำสมเนื้อกับสถาบันการเงินดั้งเดิมมากขึ้น คือ นโยบายข้อมูลเปิด (open data) และ ธนาคารเปิด (open banking) ซึ่งหมายถึงการออกกฎหมายที่ให้เจ้าของข้อมูลมีสิทธิอนุญาตให้ผู้ให้บริการทางการเงินต่าง ๆ เปิดเผยและส่งข้อมูลของตนให้แก่ผู้ให้บริการบุคคลที่สาม ตลอดจนการผลักดันให้มีมาตรฐาน API (application programming interface) และมาตรฐานข้อมูลกลาง โดยคณะวิจัยพบว่าตัวอย่างกฎหมายที่น่าสนใจ และสามารถเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของฟินเทคได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ กฎหมายของสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ยกตัวอย่างเช่น กฎหมาย Payment Service Directive (PSD2) ของสหภาพยุโรป ซึ่งให้ลูกค้าสามารถชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันเดียวโดยไม่ต้องเข้าบัญชีของธนาคารใดธนาคารหนึ่งก่อน ส่วนอังกฤษได้ประกาศว่าธนาคารขนาดใหญ่ 9 แห่ง มีหน้าที่พัฒนา APIs ตามมาตรฐานที่กำหนด ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดตั้งองค์กร Open Banking Implementation Entity (OBIE) เพื่อพัฒนามาตรฐาน open banking ร่วมกับธนาคาร ซึ่งครอบคลุมหลักการของโครงสร้างข้อมูล ซอฟต์แวร์มาตรฐาน ความปลอดภัยของระบบ ตลอดจนการตรวจสอบสิทธิ์ลูกค้าแบบรัดกุม (Strong Customer Authentication: SCA) โดยจากการศึกษาพบว่า ณ สิ้นปี 2564 นโยบาย open banking ที่อังกฤษได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 มีผู้ใช้บริการในระบบราว 3 ล้านคน และบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านฟินเทค จำนวนกว่า 300 บริษัทได้เข้าร่วมในระบบดังกล่าว (มานะสันต์, 2565; TrueLayer Ltd., n.d.)

1.2 การออกกฎหมายและสร้างกลไกที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น

จากการสัมภาษณ์ คณะวิจัยพบว่าในทางปฏิบัติ ข้อมูลเครดิตยังคงถูกผูกขาดโดยบริษัทเอกชนที่ผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดเป็นธนาคารพาณิชย์ ด้วยเหตุนี้หน่วยงานกำกับดูแลจึงควรมีมาตรการเพื่อเปิดโอกาสให้ฟินเทคเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างสะดวก ยกตัวอย่างเช่น ออกมาตรการกำหนดให้บริษัท ข้อมูลเครดิต แห่งชาติ (จำกัด) ต้องเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ให้บริการที่เป็นบุคคลที่สามหากลูกค้าร้องขอ (รายละเอียดตามที่ได้กล่าวไปในหัวข้อ 1.1) และพิจารณาทบทวนเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกของบริษัทว่าก่อให้เกิดต้นทุนสูงเกินไปจนมีแนวโน้มที่จะกีดกันผู้ใช้บริการบางกลุ่มหรือไม่

นอกจากนี้ ภาครัฐควรออกกฎหมายที่บังคับให้หน่วยงานต่าง ๆ ต้องเปิดเผยข้อมูลทางเลือก เช่น ข้อมูลการชำระค่าสาธารณูปโภค ตราบใดที่เจ้าของข้อมูลยินยอม เพื่อให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการทางการเงินที่มิใช่สถาบันการเงิน ตลอดจนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่น ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียมและด้วยต้นทุนที่ไม่สูงจนเกินไป เพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการเงินในระบบได้ดียิ่งขึ้น

1.3 การแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และยกระดับเป็น “ค่านิยม” และ “จุดขาย”

จากการสัมภาษณ์ ผู้ประกอบการฟินเทคบางรายมองกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation: GDPR) หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act: PDPA) ของไทย ว่าเป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจและขยายการให้บริการทางการเงิน บางรายกล่าวว่าได้รับการปฏิเสธการแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลจากหน่วยงานภาครัฐ โดยหน่วยงานอ้างว่าหากแบ่งปันข้อมูลให้ จะผิดกฎหมาย PDPA

คณะวิจัยเห็นว่า หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการ PDPA ควรเพิ่มมาตรการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA และร่วมมือกับสมาคมฟินเทคประเทศไทย จัดทำแนวปฏิบัติเรื่องฟินเทคกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยอ้างอิงแนวปฏิบัติที่มีอยู่เดิม เช่น “แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 3.0” (Thailand Data Protection Guidelines 3.0) เผยแพร่โดย ศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐเห็นตรงกันว่ากฎหมายนี้มิใช่อุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ แต่การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสามารถเป็น “ค่านิยม” และ “จุดขาย” ในการให้บริการทางการเงินได้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนสามารถยกระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ

 

2. นโยบายด้านการลดต้นทุนการดำเนินงานของฟินเทคนอกเหนือจากต้นทุนที่เกี่ยวกับข้อมูล

2.1 การเปิดให้โอกาสให้ผู้ประกอบการฟินเทคใช้ประโยชน์จากเงินบาทดิจิทัล (Central Bank Digital Currency: CBDC) และการปรับปรุง Regulatory Sandbox ให้เหมาะสมกับฟินเทค

คณะวิจัย เห็นว่า ธปท. ควรสนับสนุนให้ฟินเทคสามารถใช้ประโยชน์จากเงินบาทดิจิทัล (Central Bank Digital Currency: CBDC) และปรับปรุง Regulatory Sandbox ให้เหมาะสมกับบริบทของผู้ประกอบการฟินเทคยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น โดยอาจนำประสบการณ์การจัดโครงสร้าง Regulatory Sandbox ของประเทศสิงคโปร์มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย ซึ่ง Sandbox ของธนาคารกลางสิงคโปร์มีการแบ่งเป็นหลายประเภทเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าไปทดสอบ และมีกลไกสนับสนุนต่าง ๆ รวมทั้งเงินทุนด้วย

2.2 การมีกลไกเชิงสถาบันเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานของฟินเทคจากความเสี่ยงในการให้บริการทางการเงิน

จากการสัมภาษณ์ คณะวิจัยพบว่าผู้ประกอบการฟินเทคต้องแบกรับต้นทุนในการให้บริการค่อนข้างสูง เนื่องจากฐานลูกค้ามักเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง การพัฒนาระบบหรือกลไกเชิงสถาบันที่ช่วยลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการฟินเทคในการให้บริการทางการเงินจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงทางการเงินได้ โดยคณะวิจัยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

 (1) การส่งเสริมบริการ digital invoice financing หรือการใช้ใบแจ้งหนี้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาขอระดมทุนออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงบน funding portal กระบวนการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs มีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจมากขึ้น

 (2) การส่งเสริมระบบทะเบียนหลักประกันแห่งชาติดิจิทัล (Digital National Collateral Registry: NCR) ซึ่งเป็นระบบทะเบียนบนซอฟต์แวร์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล และถูกกำกับดูแลโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เพื่อใช้บันทึกข้อมูลสังหาริมทรัพย์ (สินทรัพย์ที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น วัว คอมพิวเตอร์ รถไถ ฯลฯ) ที่ใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้กับเจ้าหนี้

 (3) การขยายขอบเขตการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ครอบคลุมผู้ให้บริการทางการเงินอื่น ๆ ที่มิใช่ธนาคาร ซึ่งหมายรวมถึงผู้ประกอบการฟินเทค เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการให้บริการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs

2.3 การมีมาตรการที่มุ่งลดต้นทุนในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนออนไลน์

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนออนไลน์สูงเป็นเพราะปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทเอกชนเพียงแห่งเดียวที่เป็นผู้ให้บริการ กล่าวคือ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นธนาคาร จึงส่งผลให้บริษัทมีอำนาจผูกขาดในการให้บริการในทางปฏิบัติ คณะวิจัยจึงเสนอให้หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินสามารถใช้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนออนไลน์โดยไม่ต้องแบกรับต้นทุนมากจนเกินไป จนส่งผลต่อการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน

2.4 การมีมาตรการลดต้นทุนการใช้โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันของฟินเทค

เนื่องจากผู้ประกอบการฟินเทคหลายรายหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและเทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ ยิ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มีต้นทุนสูงเพียงใด โอกาสในการแข่งขันของฟินเทคก็ยิ่งน้อยลง โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจจะขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน ด้วยเหตุนี้ คณะวิจัย เห็นว่า หน่วยงานภาครัฐควรมีการทบทวนหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการใช้โครงสร้างพื้นฐานเป็นระยะ ๆ เพื่อให้มั่นใจว่ายังคงแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดเมื่อเวลาผ่านไป และมิใช่มาตรการที่ไม่จำเป็น ก่อให้เกิดต้นทุนสูงเกินควรสำหรับผู้ประกอบการฟินเทคที่เกี่ยวข้อง และอาจเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างไม่ได้สัดส่วน (disproportionate) กับความเสี่ยงที่ต้องการกำจัด

ตัวอย่างหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่สมควรทบทวนด้วยเหตุผลข้างต้น มีอาทิ ประกาศ ธปท. กำหนดให้สถาบันการเงินทุกแห่งบังคับให้ลูกค้ายืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้า (facial recognition) ทุกครั้งที่โอนเงินเกิน 50,000 บาทต่อครั้ง หรือเกิน 200,000 บาทต่อวัน ผ่านแอปพลิเคชันธนาคารในโทรศัพท์มือถือ


3. มาตรการปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค

3.1 การยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเพื่อส่งเสริมการแข่งขันให้ผู้เล่นฟินเทคในตลาดสินเชื่อ

การบัญญัติเพดานดอกเบี้ยโดย ธปท. ส่งผลให้เพดานดอกเบี้ยเป็น “อัตราตลาด” โดยปริยาย ซึ่งส่งผลให้ผู้ให้บริการทางการเงินซึ่งรวมถึงฟินเทคคิดดอกเบี้ยในอัตราเพดานเท่ากันหมด ขาดแรงจูงใจในการคิดค้นนวัตกรรมและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค นอกจากนี้ การกำหนดเพดานดอกเบี้ยอาจไม่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงที่ผู้ประกอบการฟินเทคต้องแบกรับ ส่งผลให้ฟินเทคหลีกเลี่ยงหรือกีดกันลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ลูกค้าต้องหันไปพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ

ด้วยเหตุนี้ คณะวิจัย จึงเสนอให้ ธปท. พิจารณาเปลี่ยนนโยบายการกำหนดเพดานดอกเบี้ยเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย (risk-based lending) แทน เพื่อจูงใจให้ฟินเทคเข้ามาแข่งขันมากขึ้น และจูงใจให้ผู้ให้บริการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เน้นการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน

3.2 การทบทวนเงื่อนไขการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา

การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาจะช่วยให้เกิดการแข่งขันและความร่วมมือในอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ธนาคารแบบดั้งเดิม ฟินเทค และผู้ให้บริการทางการเงินอื่น ๆ ในการแบ่งปันความรู้และข้อมูลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้มีคุณภาพและทั่วถึงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการจำกัดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาไว้ที่ 5,000 ล้านบาทและการกำหนดจำนวนผู้ที่สมควรได้รับใบอนุญาตไม่เกิน 3 ราย ที่ ธปท. กำหนดเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมการแข่งขันในตลาดการเงิน แม้ว่าเงื่อนไขทั้ง 2 ประการจะได้รับการทักท้วงโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 12 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ 2566 แต่ ธปท. ยังคงยืนยันเงื่อนไขเดิม

คณะวิจัยเห็นว่า ธปท. ควรคำนึงถึงการส่งเสริมการแข่งขันในตลาดมากกว่าการกังวลเรื่องการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาว่าจะประสบภาวะขาดทุน โดยลดเกณฑ์ทุนจดทะเบียนชำระแล้วให้ต่ำลงเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการฟินเทคหน้าใหม่ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์สามารถขอใบอนุญาตได้

นอกจากนี้ คณะวิจัยเสนอให้เพิ่มจำนวนผู้ที่สมควรได้รับใบอนุญาตให้มากกว่า 3 ราย เพื่อส่งเสริมการแข่งขัน เนื่องจากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่สมควรได้รับใบอนุญาตของต่างประเทศเช่น สิงคโปร์ (4 ราย) ฮ่องกง (8 ราย) มาเลเซีย (5 ราย) และไต้หวัน (3 ราย) การให้ใบอนุญาตจำนวน 3 รายนั้นอยู่ในระดับค่อนข้างน้อยโดยเปรียบเทียบ อีกทั้ง ธปท. ก็มีแนวทางการกำกับดูแลด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct regulation) และดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินอยู่แล้ว

3.3 การปลดล็อกมาตรการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่จำกัดโอกาสการลงทุน

ปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหนึ่งในทางเลือกการลงทุนที่อาจช่วยส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยการแปลงสินทรัพย์ เช่น อสังหาริมทรัพย์เป็นโทเคน (asset tokenization) ซึ่งสามารถช่วยให้สามารถแบ่งขายสินทรัพย์เป็นหน่วยย่อยได้ (fractionalize) เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงสินทรัพย์และซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้สะดวกมากขึ้น แต่จากการสัมภาษณ์พบว่า การขอใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ค่อนข้างมีความซับซ้อน และแม้ธุรกิจจะขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ง (LBDU) การเป็นนายหน้า ค้า จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุนได้แล้ว แต่ก็มีข้อจำกัดว่านักลงทุนรายย่อยในประเทศไทยที่ต้องการลงทุนในต่างประเทศจะทำได้เฉพาะบางพื้นที่ หรือเฉพาะบางผลิตภัณฑ์gเท่านั้น ทำให้ยังไม่สามารถตอบโจทย์ของนักลงทุนรายย่อยได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น คณะวิจัย เห็นว่าหน่วยงานกำกับดูแลควรทำให้การขอใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) มีความซับซ้อนน้อยลง เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในการเสนอขายโทเคนดิจิทัลให้กับนักลงทุน และ ก.ล.ต. ควรปลดล็อกข้อจำกัดที่ให้นักลงทุนสามารถลงทุนในต่างประเทศได้เฉพาะบางพื้นที่หรือบางผลิตภัณฑ์เท่านั้น เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

3.4 การปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการฟินเทค

จากการสัมภาษณ์พบว่าผู้ประกอบการฟินเทคส่วนใหญ่มองว่าอุตสาหกรรมฟินเทคมีการกำกับดูแลที่เข้มข้นเกินไป เนื่องจากฟินเทคต้องใช้กฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในระดับเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำให้ผู้เล่นฟินเทคเสียเปรียบเมื่อเทียบกับผู้เล่นที่ไม่ใช่ฟินเทคในตลาดการเงิน เช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้เก็บรักษาเงินค่าจองซื้อสูงเกินไปจนทำให้ไม่มีผู้ประกอบการขออนุญาตเป็นผู้ให้บริการได้ หรือการจำกัดสิทธิการลงทุนในคราวด์ฟันดิงมากกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งที่การลงทุนในคราวด์ฟันดิงมีความเสี่ยงน้อยกว่า ดังนั้น คณะวิจัยเห็นว่าหน่วยงานกำกับดูแลควรปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เข้มข้นเกินไป รวมถึงลดความซับซ้อนในการดำเนินงานร่วมกับฟินเทค เพื่อให้ผู้เล่นฟินเทคไม่เสียเปรียบในการแข่งขันกับผู้เล่นที่ไม่ใช่ฟินเทค  ในขณะเดียวกัน หน่วยงานกำกับดูแลควรเน้นการใช้เกณฑ์การให้บริการที่เป็นธรรม (market conduct) แทนที่การกำหนดเงื่อนไขการเข้าตลาดที่เข้มข้น 

3.5 การพิจารณาเปลี่ยนแนวทางกำกับดูแล จากการเน้น “ผู้ให้บริการทางการเงิน” มาเป็น “บริการทางการเงิน”

ในยุคที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทางการเงินไม่จำเป็นต้องเป็นสถาบันการเงินดั้งเดิมอีกต่อไป คณะวิจัย เห็นว่า หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจการประกันภัย (คปภ.) และ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ควรหารือร่วมกันถึงแนวทางกำกับดูแลฟินเทคที่เป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพ และมีความคงเส้นคงวา (consistency) โดยเน้นกำกับดูแล “บริการทางการเงิน” (financial service) มากกว่า “ผู้ประกอบการทางการเงิน” (financial service provider) กล่าวคือ บริการทางการเงินแต่ละประเภทจะถูกกำกับภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าผู้ให้บริการทางการเงินนั้น ๆ จะเป็นสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการฟินเทค บริษัทอี-คอมเมิร์ซ บริษัทโทรคมนาคม ฯลฯ

 

4. นโยบายด้านการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการฟินเทค

4.1 มาตรการสนับสนุนด้านเงินทุน

จากการสัมภาษณ์พบว่าผู้ประกอบการฟินเทคหลายแห่งมีความท้าทายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ประกอบกับจากการสืบค้นข้อมูลของคณะวิจัยพบว่า แม้หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยจะมีโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัปหรือ SMEs ในภาพรวม แต่ยังไม่มีมาตรการที่สนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ประกอบการฟินเทคหน้าใหม่โดยตรง ดังนั้น คณะวิจัยเห็นว่าภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนด้านเงินทุนที่เฉพาะเจาะจงไปยังกลุ่มผู้ประกอบการฟินเทค โดยยกตัวอย่างมาตรการในต่างประเทศที่น่าสนใจ เช่น Sandbox Express ของธนาคารกลางสิงคโปร์ โดยใน Sandbox ประเภทนี้ ผู้ประกอบการฟินเทคได้รับเงินทุนสนับสนุนร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่ไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ

4.2 มาตรการสนับสนุนด้านศักยภาพการดำเนินธุรกิจ

มาตรการที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของฟินเทคนั้นอาจแบ่งออกเป็น 2 หมวดที่สำคัญ ได้แก่ มาตรการที่ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม และมาตรการที่ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยรวมถึงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาบุคลากรของตนเอง ตัวอย่างเช่น โครงการ SkillsFuture Enterprise Credit ในสิงคโปร์ เป็นต้น