กรณีพนักงานถูกบังคับให้ขายผลิตภัณฑ์ประกันของธนาคารอย่างไม่เป็นธรรมจนส่งผลต่อสภาพจิตใจของพนักงานและลาออกจากการเป็นพนักงานธนาคาร

17 มกราคม 2565
กรณีพนักงานถูกบังคับให้ขายผลิตภัณฑ์ประกันของธนาคารอย่างไม่เป็นธรรมจนส่งผลต่อสภาพจิตใจของพนักงานและลาออกจากการเป็นพนักงานธนาคาร

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 มีผู้ใช้งาน Facebook รายหนึ่งโพสต์ระบุสาเหตุการลาออกจากการเป็นพนักงานของธนาคาร เนื่องจากถูกบังคับให้ขายผลิตภัณฑ์ประกันของธนาคารตามเป้าหมายของผู้บริหารของธนาคารอย่างไม่เป็นธรรม จนส่งผลต่อสภาพจิตใจ โดยพนักงานจำเป็นต้องขายประกันระหว่างพนักงานกันเอง หรือซื้อประกันด้วยตัวเอง เพื่อเพิ่มยอดขายและทำผลงานซึ่งระบุไว้เป็นหนึ่งใน KPIs ในการประเมินผลงานของพนักงานธนาคาร โดยนโยบายดังกล่าวเป็นคำสั่งจากผู้บริหารระดับล่าง ถึงระดับกลาง ที่ต้องการทำผลงานแข่งขันระดับภูมิภาค พร้อมระบุเพิ่มเติมว่าหากไม่กระทำตามจะมีบทลงโทษ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct) ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งระบุถึงเงื่อนไขด้านการจ่ายค่าตอบแทน ที่ไม่นำประเด็นเรื่องการกำหนดเป้าหมายด้านยอดขายผลิตภัณฑ์ประกันมาเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPI) รวมถึงกดดันพนักงานจนนำไปสู่การเสนอขายที่ขาดคุณภาพและขาดความรับผิดชอบต่อลูกค้า รวมทั้งธนาคารต้องนำข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการบังคับขายมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาค่าตอบแทนด้วย

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังกำหนดหลักเกณฑ์ด้านกระบวนการขายที่ต้องให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน ชัดเจน ไม่บิดเบือน และไม่รบกวนลูกค้า รวมทั้งต้องมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพการขาย เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการหลอก การบังคับ การเอาเปรียบลูกค้า และการบังคับขายผลิตภัณฑ์พ่วงที่เป็นเงื่อนไขในการขายผลิตภัณฑ์หลัก

ภายหลังการโพสต์ข้อความบนโซเดียลมีเดียของพนักงานดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่ากำลังเร่งตรวจสอบ อีกทั้งธนาคารดังกล่าวได้ออกหนังสือชี้แจงเบื้องต้นว่าเรื่องดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่กลับยังไม่มีความคืบหน้าด้านการจัดการกรณีที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ทำให้ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 นายองอาจ เชนช่วยญาติ ประธานเครือข่ายสหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงิน (Bank and Financial Union Network: BFUN) เข้ายื่นหนังสือถึง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอเข้าพบและหารือถึงกรณีการถูกบังคับขายประกันของธนาคาร โดยระบุข้อความในหนังสือว่า

 

“จากเหตุการณ์ที่มีอดีตพนักงานธนาคาร ได้มีการโพสต์ข้อความลงโซเชียลมีเดีย ประเด็นที่มีการกดดันให้ขายประกันชีวิตจนส่งผลทำให้พนักงานต้องซื้อประกันเองเพื่อให้มีผลงานจนเป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานนั้นตัดสินใจลาออกจากการเป็นพนักงานธนาคาร (มีมานานแล้ว) และเป็นข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้จากทุกธนาคาร ทั้งธนาคารรัฐวิสาหกิจและธนาคาภาคเอกชน

เครือข่ายสหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงินรู้สึกวิตกเป็นอย่างมากในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งเครือข่ายฯ ได้เคยยื่นหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องคัดค้านการให้พนักงานธนาคารพาณิชย์ขายผลิตภัณฑ์เสริมต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยควบคุมการนำเสนอขายประกันชีวิต ผ่านพนักงานธนาคารที่ไม่มีใบอนุญาต อันมีผลกระทบโดยตรงกับการกดดัน การกำหนดเป้าหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลงาน การกำหนดเป็นเคพีไอ (KPIs) ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งในปัจจุบันแม้มีการกำหนดเงื่อนไขใน Market Conduct แต่ยังมีการใช้เทคนิคการกำหนดเป้าหมายแบบบังคับ”

 

เครือข่ายสหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงิน ได้เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยขอให้ดำเนินการตรวจสอบแต่ละธนาคาร ทั้งธนาคารรัฐวิสาหกิจและธนาคารภาคเอกชน รวมถึงเรียกร้องให้มีการควบคุมการเสนอขายประกันชีวิตผ่านพนักงานที่ไม่มีใบอนุญาตขายและการกำหนดยอดขายประกันให้เป็นหนึ่งในหลักการประเมินผลงานของพนักงาน หรือ KPIs จนส่งกระทบต่อการทำงานของพนักงานที่ไม่เป็นธรรม โดย ณ สิ้นปี 2565 ยังไม่มีความคืบหน้าในกรณีดังกล่าว

 

เอกสารอ้างอิง

อดีตสาวแบงก์ โพสต์แฉธนาคารบีบขายประกัน

ธ.กรุงศรีฯ ร่อนหนังสือแจง หลังอดีตพนักงานแฉถูกบีบขายประกันจนสุขภาพจิตแย่

ธปท.ห้ามแบงก์บังคับขายประกันลูกค้า “กรุงศรี” เร่งตรวจสอบ

เครือข่ายสหภาพธนาคาร ขอคุย ผู้ว่า ธปท. ปมพนักงานแบงก์ถูกบังคับขายประกัน