ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีธนาคารไทยปล่อยสินเชื่อแก่โครงการลงทุนข้ามพรมแดนที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

25 มีนาคม 2562
ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีธนาคารไทยปล่อยสินเชื่อแก่โครงการลงทุนข้ามพรมแดนที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

I. เขื่อนไซยะบุรี

สถานที่: สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง โดยแต่เดิมเป็นพื้นที่ทำเกษตร 112.5 ไร่ และพื้นที่สวนสัก 1012.5 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 10 หมู่บ้าน 391 ครัวเรือน เป็นประชากรรวม 2,130 คน ประชากรส่วนใหญ่ทำอาชีพหาปลา ปลูกไม้สัก และร่อนทองคำ ซึ่งตัวโครงการสร้างผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพชุมชน ทั้งในประเทศลาวและประเทศใต้ลุ่มน้ำด้านล่าง ในประเด็นดังต่อไปนี้

1. เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำท้ายเขื่อนไซยะบุรี ทำให้เกิดความผันผวนของระดับน้ำโขงอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยท้ายเขื่อน
2. เปลี่ยนแปลงการระบายตะกอนที่สะสมบริเวณเหนือเขื่อน ส่งผลต่อคุณภาพออกซิเจนในน้ำลดลง และส่งผลกระทบทางลบต่อคุณภาพน้ำบริเวณเหนือเขื่อน
3. เขื่อนสร้างกีดขวางเส้นทางอพยพของปลา ส่งผลกระทบทางลบต่อระบบนิเวศและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของปลาอย่างรุนแรง แม้ทางโครงการระบุว่ามีเทคโนโลยีทางผ่านปลา แต่เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถใช้ได้กับปลาบางสายพันธุ์เท่านั้น

ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

โครงการเขื่อนไซยะบุรีไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนโดยรอบโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสูญเสียที่อยู่อาศัยและโอกาสในการประกอบอาชีพในภูมิลำเนา และกลุ่มภาคประชาสังคมในประเทศลาวได้แสดงความคิดเห็นต่อการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี 

ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อแก่โครงการเขื่อนไซยะบุรี

  1. ธนาคารกรุงเทพ
  2. ธนาคารไทยพาณิชย์
  3. ธนาคารกรุงไทย
  4. ธนาคารกสิกรไทย
  5. ธนาคารทิสโก้
  6. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย [ไม่ได้ถูกประเมิน]

ที่มา: รายงานการติดตามการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน หน้า 29

อ่านกรณีศึกษา: ความท้าทายของการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เขื่อน: กรณีศึกษาโครงการไซยะบุรี และเซเปียน-เซน้ำน้อย

 

II. โครงการเหมืองและโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์

สถานที่: สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ที่ตั้งเหมืองและโรงงานไฟฟ้า) และ ประเทศไทย (ที่ตั้งเสาและระบบสายส่ง)

สภาพชุมชนโดยรอบที่ตั้งโครงการก่อนดำเนินโครงการเดิมเป็นพื้นที่ป่า มีชุมชนที่จะต้องโยกย้ายถิ่นฐานกว่า 6 หมู่บ้าน 400 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลื้อ โดยตัวโครงการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพชุมชนในประเด็นดังต่อไปนี้

  1. ชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนในอำเภอหงสา แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว ไม่สามารถเข้าไปทำงานในพื้นที่ได้โดยง่ายเนื่องจากถูกปิดกั้นจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น
  2. ได้รับผลกระทบจากโรงงานที่สร้างมลพิษทางอากาศและปล่อยโลหะหนักลงสู่แหล่งน้ำชุมชน

ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงต้นของการดำเนินโครงการ

  1. เกิดการไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในอำเภอหงสา แขวงไซยะบุรี สปป. ลาว
  2. ไม่มีการชี้แจงข้อมูลรายละเอียดโครงการและข้อมูลผลกระทบที่ครบถ้วนชัดเจน
  3. การดำเนินการเกี่ยวกับเงินชดเชยของรัฐเป็นไปอย่างล่าช้า

ในประเทศไทย เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าหงสา ในจังหวัดน่าน

  1. ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงการมาก่อน
  2. รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
  3. ชาวบ้านจำนวนหนึ่งถูกลิดรอนสิทธิบนพื้นที่ทำกิน เนื่องจากทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มิได้ซื้อที่ดินจากประชาชนแต่จ่ายเงินเป็นค่าทดแทนซึ่งต่ำกว่าราคาประเมิน นอกจากนี้ เจ้าของที่ดินที่อยู่ในเขตเดินสายไฟฟ้ายังถูกห้ามมิให้ปลูกโรงเรือนและไม้ยืนต้นในเขตเดินสายไฟฟ้าอีกด้วย

ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อแก่โครงการเหมืองและโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์

  1. ธนาคารกรุงเทพ
  2. ธนาคารไทยพาณิชย์
  3. ธนาคารกรุงไทย
  4. ธนาคารกสิกรไทย
  5. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  6. ธนาคารธนชาต*
  7. ธนาคารทหารไทย*
  8. ธนาคารออมสิน
  9. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย [ไม่ได้ถูกประเมิน]

*หมายเหตุ: ปัจจุบันธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต ได้ควบรวมทางธุรกิจและเปลี่ยนชื่อเป็น "ธนาคารทหารไทยธนชาต"

ที่มา: 

  1. รายงานการติดตามการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน หน้า 48
  2. คำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิต่อกรณีโครงการเหมืองและโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ในจังหวัดน่าน

 

III. โครงการพลังงานไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย

สถานที่: สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

โครงการพลังงานไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยตั้งอยู่บนลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง บริเวณเขตเมืองปากซ่อง แขวงจำปาสัก ติดต่อกับชายแดนแขวงอัตปือ ซึ่งได้เริ่มลงมือก่อสร้างนับตั้งแต่ปลายปี 2556 และคาดว่าจะเสร็จในต้นปี 2562  โดยในวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 เกิดเหตุเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ D (Saddle-dam D) ของโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก  ทำให้มวลน้ำขนาด 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ท่วมพื้นที่ใต้เขื่อน โดยมวลน้ำดังกล่าวไหลท่วมหมู่บ้านในบริเวณกัมพูชาตอนบนอีกด้วย ในสสป.ลาวมีประชากรกว่า 1,300 ครัวเรือน หรือกว่า 6,600 คนที่สูญเสียบ้าน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561) มีจำนวนผู้สูญหายกว่า 31 คน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2562) ทั้งยังสร้างความสูญเสียบ้านเรือนและทรัพย์สินอีกด้วย

ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

  1. ผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน เกี่ยวกับผลกระทบของโครงการต่อที่อยู่อาศัย ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ป่าโดยรอบ และความหลากหลายของประชากรปลามาก่อน
  2. ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในเอกสารแผนการตั้งถิ่นฐานใหม่และการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ โดยในเอกสารระบุว่าทางโครงการจะย้ายผู้ได้รับผลกระทบไปอยู่ในพื้นที่ใหม่และให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่และความสามารถในการดำรงชีพได้เทียบเท่าหรือดีกว่าที่อยู่เดิม แต่กลับพบว่าบางพื้นที่การเข้าถึงแหล่งอาหารและน้ำทำได้ยากกว่าเดิม และคุณภาพดินในพื้นที่ใหม่ยังไม่เหมาะสมแก่การเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของผู้อพยพอีกด้วย
  3. ในกรณีเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ D เซเปียน-เซน้ำน้อยแตก พบว่าระบบเตือนภัยกรณีฉุกเฉินมีความล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้ามากเพียงพอ สร้างความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ได้รับผลกระทบ

ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อแก่โครงการพลังงานไฟฟ้าเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย

  1. ธนาคารกรุงไทย
  2. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  3. ธนาคารธนชาต*
  4. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย [ไม่ได้ถูกประเมิน]

*หมายเหตุ: ธนาคารทหารไทยธนชาตในปัจจุบัน

ที่มา:

  1. คำถามจาก International River ต่อผู้พัฒนาโครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในกรณีที่ชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลผลกระทบจากการสร้างเขื่อนอย่างครบถ้วนก่อนการสร้างเขื่อน
  2. ตัวเลขผู้สูญหาย ผู้เสียชีวิต และการเยียวยากรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก

อ่านกรณีศึกษา: ความท้าทายของการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เขื่อน: กรณีศึกษาโครงการไซยะบุรี และเซเปียน-เซน้ำน้อย

.

ตารางสรุปธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อแก่โครงการลงทุนข้ามพรมแดนที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

โครงการลงทุนข้ามพรมแดนที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อ

เขื่อนไซยะบุรี

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

  1. ธนาคารกรุงเทพ
  2. ธนาคารไทยพาณิชย์
  3. ธนาคารกรุงไทย
  4. ธนาคารกสิกรไทย
  5. ธนาคารทิสโก้
  6. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

โครงการเหมืองและโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและประเทศไทย

  1. ธนาคารกรุงเทพ
  2. ธนาคารไทยพาณิชย์
  3. ธนาคารกรุงไทย
  4. ธนาคารกสิกรไทย
  5. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  6. ธนาคารธนชาต*
  7. ธนาคารทหารไทย*
  8. ธนาคารออมสิน
  9. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
โครงการพลังงานไฟฟ้าเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
  1. ธนาคารกรุงไทย
  2. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  3. ธนาคารธนชาต*
  4. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

*หมายเหตุ: ปัจจุบันธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต ได้ควบรวมทางธุรกิจและเปลี่ยนชื่อเป็น "ธนาคารทหารไทยธนชาต"