สิทธิมนุษยชน ฟันเฟืองที่ควรอยู่ในทุกการตัดสินใจของสถาบันการเงิน

31 มกราคม 2567
สิทธิมนุษยชน ฟันเฟืองที่ควรอยู่ในทุกการตัดสินใจของสถาบันการเงิน
เมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนกับการทำธุรกิจ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเพียงแค่การดูแลพนักงานที่เป็นธรรม ไม่ละเมิดสิทธิในแง่มุมต่างๆ หากแต่จริงๆ แล้วการทำธุรกิจยังมีความสัมพันธ์กับเรื่องสิทธิมนุษยชนมากกว่านั้นและละเอียดอ่อนกว่าที่คิด เพราะการทำธุรกิจยังมีเรื่องของผลกระทบทั้งในแง่ของกระบวนการและผลลัพธ์ที่สืบเนื่องจากธุรกิจนั้นๆ ด้วย ซึ่งมีมิติและความซับซ้อนในหลายด้าน
ยิ่งเมื่อพูดถึงธุรกิจสถาบันการเงินแล้ว ความเกี่ยวพันกับเรื่องสิทธิมนุษยชนยังทวีความซับซ้อนมากกว่านั้น เพราะกำไรอย่างหนึ่งของสถาบันการเงินมากการปล่อยเงินกู้ให้ภาคธุรกิจ ดังนั้น แม้ธนาคารต่างๆ จะไม่ได้ทำธุรกิจเองโดยตรง แต่การปล่อยเงินกู้ให้แก่ภาคธุรกิจต่างๆ ก็ทำให้สถาบันการเงินมีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจนั้นๆ ด้วย
การมองเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงต้องมองให้ลึกมากไปกว่าเพียงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ใช้กับพนักงานในบริษัท และมองให้ไกลไปถึงผลกระทบที่มาจากภาคธุรกิจแต่ละรายด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่การทำธุรกิจจึงไม่ควรทอดทิ้งแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในทุกการตัดสินใจ
ส่องเบื้องหลังแนวคิดการทำธุรกิจที่ไม่ทิ้งเรื่องสิทธิมนุษยชน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1948 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เป็นครั้งแรกที่ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้ลงมติรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการวางรากฐานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 48 ประเทศ ณ ตอนนั้น โดยเนื้อหาทั้งหมด 30 ข้อ ครอบคลุมประเด็นสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคม และสิทธิทางวัฒนธรรม

แม้ปฏิญญาดังกล่าวจะไม่มีพันธะผูกพันในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ปฏิญญานี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นกฎหมายจารีตระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ต้องเคารพและใช้สำหรับอ้างอิงในประเด็นที่เกี่ยวข้องด้วย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาของโลกมาพร้อมกับความท้าทายใหม่ๆ เรื่องสิทธิมนุษยชน บ่อยครั้งที่ประเด็นปัญหาเหล่านี้นอกจากจะเป็นเรื่องใหม่แล้วยังซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ผลกระทบจากภาคธุรกิจขยายตัวเป็นวงกว้าง ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ดังนั้น ในขณะที่เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาและเกิดการสร้างงานอย่างต่อเนื่อง อีกด้านหนึ่งเกิดเป็นการหาประโยชน์จากข้อกฎหมายที่ไม่รัดกุม หรือการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่เข้มงวด

ในอุตสาหกรรมบางประเภทอย่างเช่น เหมือง น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พลังงานไฟฟ้า และเกษตรกรรม มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการเข้ายึดครองที่ดินของนายทุน หรือหากยังอาศัยอยู่ที่เดิมก็อาจได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของสารมลพิษทั้งทางน้ำและทางอากาศ

มากไปกว่านั้น ประชาชนยังถูกปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่มาจากธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งเท่ากับว่าคนในพื้นที่ไม่สามารถมีส่วนในการตัดสินใจเรื่องที่พวกเขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบ และบ่อยครั้งที่ความพยายามเรียกร้องความยุติธรรมในเรื่องนี้ต้องเจอกับกำแพงที่มาจากกฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพพอ การคอร์รัปชัน หรืออิทธิพลของกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้อง

การเอารัดเอาเปรียบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและการที่รัฐบาลในแต่ละประเทศไม่สามารถปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนที่ได้รับผลกระทบได้นำไปสู่ข้อเรียกร้องให้ทางสหประชาชาติกำหนดกรอบการทำงานที่ให้น้ำหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนขึ้น โดยในปี 2008 ได้มีการขยายความเพิ่มเติมถึงหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขึ้น ที่เป็นส่วนหนึ่งของกรอบขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปกป้อง การเคารพ และการเยียวยา (Protect, Respect, and Remedy Framework) โดยมีหลักใหญ่ 3 ข้อ ได้แก่

1) รัฐต้องปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการถูกละเมิดโดยบุคคลที่สาม ซึ่งรวมถึงภาคธุรกิจ
2) ภาคธุรกิจต้องเคารพสิทธิมนุษยชน
3) ผู้ได้รับผลกระทบจำเป็นจะต้องเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่เป็นไปตามการพิจารณาคดีตามกฎหมายและอยู่นอกเหนือจากพิจารณาคดีตามกฎหมาย

กรอบแนวคิดนี้ได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์ในเดือนมิถุนายน 2011 ให้เป็นหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights – UNGPs) ซึ่งปัจจุบันถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินผลกระทบจากกิจกรรมทางธุรกิจที่ส่งผลกระทบในเรื่องสิทธิมนุษยชน และเป็นเกณฑ์หนึ่งในการวัดความรับผิดชอบต่อสังคมที่ใช้กับสถาบันการเงินทุกประเภท
.
เฉพาะในปี 2021 รายงานจาก Front Page ระบุว่า ผู้ที่เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมในเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม และชาติพันธุ์ ที่ถูกสังหารใน 35 ประเทศ มีจำนวนอย่างน้อย 358 คน โดย 69% ของจำนวนนี้เป็นผู้ที่ต่อสู้เรียกร้องในประเด็นเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ กลุ่มชาติพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายชีวิตเกี่ยวพันกับธุรกิจระดับโลก อย่างเช่น ภาคการเกษตร เหมือง ป่าไม้ และเขื่อน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากผู้รายงานพิเศษภายใต้สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ระบุว่า นักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการใช้ที่ดินถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุดกลุ่มหนึ่ง

การที่นักต่อสู้ซึ่งเรียกร้องความเป็นธรรมในประเด็นปัญหานี้จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงด้านความปลอดภัยในชีวิต จึงเป็นอีกเหตุผลว่าทำไมปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มาจากการยึดครองพื้นที่จึงเป็นหนึ่งในปัญหาที่เร่งด่วนและควรหาทางออกร่วมกันเพื่อลดผลกระทบในเรื่องนี้ลง โดยเฉพาะในยุคที่ภาคธุรกิจขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกรูปแบบ เพราะหากปราศจากหลักความรับผิดชอบในเรื่องนี้แล้ว การขยายตัวของภาคธุรกิจก็ไม่ต่างจากการเพิ่มอัตราการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบของการสร้างความเจริญ

ถึงแม้ว่าสถาบันการเงินจะไม่ใช่ธุรกิจที่ขยายตัวโดยตรง แต่สถาบันการเงินเกี่ยวข้องกับธุรกิจแทบทุกอุตสาหกรรม เพราะการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ต้องใช้เงินกู้จากธนาคาร ทำให้ธนาคารไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบเรื่องนี้ได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการประเมินด้านนโยบายต่างๆ ของสถาบันการเงิน เพื่อสร้างแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม
จับตาสถานการณ์โลก เพราะความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่เรื่องของไทย

ความเกี่ยวพันระหว่างสถาบันการเงินไทยและภาคธุรกิจในเรื่องความเสี่ยงด้านสิทธิไม่ได้เป็นเพียงเรื่องที่จำกัดอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะหลายธุรกิจใช้เงินกู้จากธนาคารไทยเพื่อไปลงทุนในต่างประเทศ อย่างเช่นเขื่อนไซยะบุรี ที่บริษัทไทยไปลงทุนสร้างเขื่อนที่ลาว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศในลุ่มน้ำโขง กระทบต่อเนื่องไปถึงวิถีชีวิตของผู้คน และยังย้อนกลับมาสร้างปัญหาขาดแคลนน้ำในหนองคายของไทยอีกด้วย

ในทางกลับกัน ธุรกิจที่มาลงทุนในประเทศไทยเองก็อาจดำเนินการด้วยเงินที่มาจากธนาคารในประเทศอื่น แต่สร้างผลกระทบให้กับคนไทยได้ ความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนจึงเป็นประเด็นปัญหาระดับโลกมากกว่าจะเป็นปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง

สถาบันการเงินในหลายประเทศทั่วโลกจึงนำการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักขององค์การสหประชาชาติมาใช้ ธนาคารหลายแห่งในบางประเทศร่วมมือกันเพื่อสร้างกรอบการประเมินความเสี่ยงเรื่องนี้ ตัวอย่างหนึ่งที่มีการอ้างอิงถึงเป็นประจำก็คือ สมาคม Equator Principles (EPs) ที่มีสถาบันการเงินนำเกณฑ์นี้ไปใช้มากกว่า 90 แห่ง ใน 37 ประเทศ โดยสถาบันการเงินที่เข้าร่วมในหลักการจะต้องพัฒนาธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ Thun Group ซึ่งเป็นการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของสถาบันการเงินที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2011 ที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำความเข้าใจ เคารพ และสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านทางกิจกรรมต่างๆ ของสถาบันการเงิน รวมถึงเสริมสร้างความรู้เชิงลึกในเรื่องนี้ โดยยึดตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

นอกจากตัวอย่างความร่วมมือกันระหว่างประเทศแล้ว ยังมีความร่วมมือกันภายในประเทศ อย่าง Dutch Banking Sector Agreement on International Responsible Business Conduct ที่เป็นการลงนามความร่วมมือกันระหว่าง Dutch Banking Association ที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ในเนเธอร์แลนด์เป็นสมาชิก สหภาพแรงงานต่างๆ องค์กรภาคประชารัฐ และรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ โดยธนาคารที่เข้าร่วมตกลงที่จะเคารพและยึดหลักสิทธิมนุษย์ชนในการปล่อยเงินกู้แก่ภาคธุรกิจและการตั้งบริษัทเพื่อลงทุนในโครงการใดโครงการหนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มาจากเงินลงทุนของธนาคาร

ในประเทศไทยเอง Fair Finance Thailand หรือแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน เพื่อติดตามผลกระทบและความท้าทายของธุรกิจธนาคาร พร้อมผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏัติของการธนาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Banking) อย่างแท้จริง ผ่านการนำมาตรฐาน Fair Finance Guide International หรือแนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ มาใช้ในการประเมินนโยบายด้านต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดเผยสู่สาธารณะ โดย Fair Finance Thailand เป็นส่วนหนึ่งของ Fair Finance International ที่เริ่มต้นวางหลักการมาตั้งแต่ปี 2014
เปิดผลประเมินคะแนน 11 ธนาคารไทย

ปี 2566 เป็นปีที่ 6 ที่คณะวิจัย Fair Finance Thailand จัดทำการประเมินนโยบายด้านต่างๆ ของสถาบันการเงินไทย 11 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย 8 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3 แห่ง โดยอิงจากเกณฑ์ Fair Finance Guide International ฉบับปี 2023 และใช้ข้อมูลที่ธนาคารเปิดเผยต่อสาธารณะ รวมถึงข้อมูลที่ธนาคารเปิดเผยต่อสาธารณะเพิ่มเติมในช่วงรับฟังความคิดเห็นระหว่างคณะวิจัยกับธนาคารแต่ละแห่ง

จากผลการประเมินครั้งล่าสุดนี้ พบว่าคะแนนเฉลี่ยของธนาคารทั้ง 11 แห่ง ลดลงจาก 33.94 คะแนนในปี 2565 เป็น 32.92 คะแนนในปี 2566 โดยธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 4 อันดับแรกเป็นลำดับเดียวกันกับในปี 2565 ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (39.20%) ธนาคารกสิกรไทย (33.14%) ธนาคารกรุงไทย (30.79%) และธนาคารไทยพาณิชย์ (29.85%) ส่วนอันดับที่ 5 เป็นธนาคารกรุงเทพ (29.49%) ที่ขึ้นมาแทนธนาคารกรุงศรีอยุธยา (27.64%) ที่เลื่อนลงไปอยู่ในอันดับที่ 6 แทนในปีนี้

หากเจาะที่หมวดสิทธิมนุษยชน เกณฑ์นี้คาดหวังให้ธนาคารมีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติและมีกลไกติดตามตรวจสอบให้ลูกหนี้ธุรกิจของธนาคารปฏิบัติตามหลักการชี้แนะดังกล่าวด้วย

โดยในปี 2566 จากการประเมินคะแนนของธนาคารทั้ง 11 แห่ง ธนาคารที่มีคะแนนเป็นอันดับหนึ่งคือธนาคารทหารไทยธนชาต โดยได้คะแนนสูงถึง 7.33 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งเป็นเพียงธนาคารเดียวที่ได้คะแนนเกินครึ่ง โดยอันดับสองเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ที่ได้ 4.17 คะแนน ตามด้วยอันดับที่สามคือธนาคารกสิกรไทยซึ่งได้ 3.83 คะแนน ส่วนอันดับที่ 4 มี 4 ธนาคารที่ได้คะแนนเท่ากัน คือ 1.33 คะแนน ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารกรุงไทย
เปิดวงสนทนา ก้าวต่อไปของธนาคารไทยที่ใส่ใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน

หากมองสถานการณ์ในปัจจุบัน การตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนน่าจะเป็นเรื่องที่ธนาคารในประเทศไทยมองเห็นถึงความสำคัญ โดยเห็นได้จากการปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับเรื่องนี้ อย่างเช่น ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ที่มีนโยบายกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่าธนาคารอื่นๆ ทั้งจากการรับหลักการสากลมาเป็นแนวปฏิบัติ และการกำหนดเงื่อนไขในการให้บริการทางการเงินของธนาคาร

เมื่อพิจารณารายละเอียดจะเห็นว่า ทั้งสามธนาคารมีนโยบายย่อยที่น่าสนใจแตกต่างกัน โดยธนาคารทหารไทยธนชาต ซึ่งเป็นธนาคารที่ได้รับคะแนนในหมวดสิทธิมนุษยชนสูงสุดนั้น กำหนดให้ลูกค้าต้องมีความรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายของประเทศ รวมถึงกรอบการดำเนินงานระดับโลกที่กำหนดในหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGPs) การกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารต้องป้องกันความขัดแย้งเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน และใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยได้รับความยินยอมโดยสมัครใจที่เป็นอิสระและได้รับข้อมูลล่วงหน้า (Free, Prior, and Informed Consent - FPIC) จากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากใช้ที่ดินของธุรกิจก่อนการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่ได้รับคะแนนในข้อนี้

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอีเควเตอร์ หรือ Equator Principles (EP) Association พร้อมนำหลักการ EP มาใช้ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับสินเชื่อโครงการ (Project Finance) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อาทิ การกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารต้องมีการระบุ ประเมิน และจัดการความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อร่วมปกป้องสิทธิของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่โครงการ สิทธิของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ และ/หรือ สิทธิของแรงงานที่ทำงานให้กับโครงการ

ในเรื่องหลักการข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact - UNGC) ซึ่งกำหนดให้การปฏิบัติงานและกลยุทธ์ของภาคธุรกิจต้องเป็นไปตามหลักการที่ได้รับการยอมรับโดยสากล ในขอบเขตเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทยเป็นสองธนาคารที่ลงนามรับรองหลักการดังกล่าว ในเกณฑ์ข้อที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารเคารพในสิทธิมนุษยชนทุกข้อตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงลูกค้าของธนาคารต้องจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) และต้องจัดตั้งหรือมีส่วนร่วมในกลไกรับเรื่องร้องเรียนระดับปฏิบัติการจากปัจเจกและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงกระบวนการเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจดังกล่าวด้วย

การประกาศรับหลักการชี้แนะและคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้นจึงน่าจะเรียกได้ว่าเป็นสถานะปัจจุบันของสถาบันการเงินในประเทศไทย แต่ความท้าทายก้าวต่อไปก็คือการแปลงหลักการให้เป็นกระบวนการทำงานที่ชัดเจน ทั้งยังเป็นหลักการที่ไม่ได้ใช้แค่เพียงกับตัวธนาคารเองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการกำชับให้ลูกค้าธนาคารรับหลักการชี้แนะด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่ธนาคารควรให้ความสำคัญก็คือการรับเรื่องร้องเรียนที่เปิดกว้างสำหรับทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบ การเปิดเวทีเสวนาเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้จึงน่าจะเป็นจิ๊กซอว์ที่ช่วยทำให้ภาพของการสนับสนุนในเรื่องสิทธิมนุษยชนของธนาคารต่างๆ ชัดเจนขึ้น

นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งในการจัดเวทีสาธารณะ “เปิดคะแนน ESG ธนาคารไทย ปีที่ 6: โอกาสและความท้าทายสำคัญ” ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นี้ เวลา 13.30 น. – 16.30 น. ที่โรงแรม S31 สุขุมวิท ที่นอกจากจะได้รับฟังการแถลงผลการประเมินธนาคาร ครั้งที่ 6 ประจำปี 2566 พร้อมพิธีมอบรางวัลแก่ธนาคารที่ได้รางวัลคะแนนสูงสุด และที่สำคัญคือเวทีเสวนาในหัวข้อ “ธนาคารไทยกับสิทธิมนุษยชน: จากคำมั่นสัญญาสู่การลงมือทำ” ที่มีทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน และผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน

เพราะการรับฟังและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่จะเกิดขึ้นในวันนั้นอาจมีส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ลงทะเบียนเข้าร่วมงานฟรีที่ https://forms.gle/cwEsa3Jh3DcT7nns8

ดูผลการประเมินได้ที่ https://fairfinancethailand.org/