วรภพ วิริยะโรจน์: การล้มละลายไม่ใช่อาชญากรรม ลูกหนี้มีสิทธิ์เริ่มต้นชีวิตใหม่
ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา การมีตัวเลขหนี้สินอยู่ในบัญชีการเงินถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้ทั่วไป การกู้ยืมเงินเป็นเรื่องธรรมดาของการดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิต ยามใดที่ขาดสภาพคล่อง ขาดเงินทุนในการใช้จ่าย หรือต้องการขยับขยายกิจการ ยามนั้นการกู้ยืมก็เป็นตัวเลือกแรกๆ ที่เข้ามาในแผนการ
ในกระบวนการกู้ยืมอาจแบ่งได้เป็น 2 ฝ่ายหลัก คือฝ่ายลูกหนี้ ต้องการกู้ยืมเงินมาใช้โดยเห็นว่าตนมีศักยภาพพอที่จะใช้เงินคืนได้ทั้งหมด และฝ่ายเจ้าหนี้ ซึ่งเชื่อในศักยภาพของลูกหนี้ ณ ขณะเวลาที่มากู้ยืมกับตน
แต่หากเกิดสถานการณ์ที่ทำให้ศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกหนี้เกิดการสะดุด จนกระทบถึงขนาดที่การกู้ยืมนั้นไม่สามารถเป็นไปตามที่ตกลงกัน จากเดิมที่ลูกหนี้เคยเป็นบุคคลผู้มีรายได้เพียงพอสำหรับชำระหนี้ แต่กลับกลายเป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวไปเสีย
เมื่อเป็นเช่นนั้น ทางออกจึงมีอยู่ 2 ทาง คือ หากไม่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้สิน ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย
ทว่าตามกฎหมายไทย ทางเลือกดังกล่าวกลับเป็นสิทธิที่มีให้เฉพาะแต่นิติบุคคลเท่านั้น ส่วนบุคคลธรรมดาทำได้เพียงแค่รอวันเวลาที่จะถูกยึดทรัพย์สิน หรือไม่ก็ถูกลงโทษผ่านการฟ้องศาล จนตกเป็นบุคคลล้มละลาย
นั่นคือช่องว่างของระบบกฎหมายไทยในปัจจุบัน เป็นช่องว่างในสิทธิของลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นไปตามหลักสากล และเป็นช่องว่างที่ วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และโฆษกคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร พยายามรณรงค์ผลักดันให้สิทธิของลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาก้าวข้ามไปถึงขั้นที่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้สิน กระทั่งสามารถยื่นขอล้มละลายด้วยความสมัครใจ เช่นเดียวกับที่กฎหมายเปิดช่องให้นิติบุคคลทำได้
“กฎหมายไทยยังมีอะไรที่ต้องพัฒนาอีกเยอะ คือยังไม่เป็นสากล ทั้งในแง่ของตัวกฎหมายเอง การบังคับใช้ การตีความ ซึ่งช่องว่างทั้งสามด้านนี้ยังสามารถพัฒนาตามหลักสากลได้อยู่ โดยเฉพาะบทบัญญัติของกฎหมายที่ยังไม่รองรับสิทธิของลูกหนี้ เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่เขารองรับไปแล้ว อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง”
พ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับปัจจุบันที่ใช้มากว่า 80 ปี มีช่องโหว่อะไรบ้างที่จนถึงวันนี้เราควรจะเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แก้ไข
ถ้าเราไปดู พ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับนี้ จะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่บังคับใช้มา 80 กว่าปีแล้ว จริงๆ ก็มีการแก้ไขมาตลอดเวลา แต่ถ้าถามถึงปัจจุบันนี้ผมก็มองว่ายังมีช่องโหว่อยู่คือ สิทธิของลูกหนี้ยังไม่เป็นไปตามหลักสากล หนึ่งในที่นี้คือ สิทธิที่ลูกหนี้จะขอยื่นฟื้นฟูหนี้สินแบบสมัครใจได้
ถ้าเท้าความไปก่อนหน้านี้คือ หลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เรามีกฎหมายที่เปิดช่องให้ลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลสามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้ แต่ถ้าเป็นบุคคลธรรมดายังไม่มีสิทธินั้น ซึ่งประเด็นนี้เท่าที่ผมศึกษาเปรียบเทียบในต่างประเทศ เขาจะมองว่าเป็นสิทธิของลูกหนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ที่ทำธุรกิจเป็นนิติบุคคล หรือลูกหนี้บุคคลธรรมดา ลูกหนี้เหล่านั้นก็ควรจะมีสิทธิยื่นขอฟื้นฟูหนี้สินแบบสมัครใจได้ ก็เลยเป็นเหตุผลที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปศึกษา ได้มีโอกาสคุยกับหลายๆ ท่าน ก็รู้สึกมีความสนใจและอยากจะผลักดันเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกคนเห็นว่ายังมีช่องว่างของระบบกฎหมายไทยอยู่
หลักคิดเดิมของกฎหมายไทยตั้งอยู่บนฐานคิดที่เน้นเรื่องบทลงโทษหากลูกหนี้ผิดสัญญา คือต้องชำระหนี้ให้ครบถ้วนก่อน เราควรจะเปลี่ยนหลักคิดตรงนี้อย่างไร
ถ้ามองในแง่การทำสัญญาระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ผมคิดว่าโดยหลักการทุกคนก็คงเข้าใจตรงกัน เพราะเป็นหลักเศรษฐกิจอยู่แล้วที่เจ้าหนี้ย่อมต้องการให้ลูกหนี้จ่ายชำระคืนตามที่ตกลงกัน แต่แน่นอนว่าในความเป็นจริงอาจมีปัจจัยหลายอย่างที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เช่น สถานะของลูกหนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมตอนที่เขาเริ่มกู้ เขาคาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากการทำธุรกิจหรือจากการทำงานที่เป็นไปตามแผน แต่พอวันเวลาผ่านไป 3 ปี 5 ปี หลายสิ่งหลายอย่างที่เขาตั้งใจเมื่อตอนทำสัญญากู้เงินนั้น อาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังของทั้งเจ้าหนี้และตัวลูกหนี้เอง
ดังนั้น ในแง่ของโลกทุนนิยมจึงมีบทบัญญัติหนึ่งขึ้นมาว่า ในการจัดการหนี้สิน เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นก็มีหลากหลายวิธีที่จะแก้ไข การขอฟื้นฟูหนี้สินก็เป็นช่องทางที่หนึ่ง ต่อมาก็คือกระบวนการล้มละลาย ซึ่งมีบทบัญญัติของกฎหมายเข้ามารองรับและคุ้มครองสิทธิของทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย สำหรับตัวลูกหนี้เอง ชัดเจนว่ากฎหมายก็ต้องมีข้อบัญญัติเพื่อรองรับว่าลูกหนี้สามารถมีชีวิตใหม่ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีภาระหนี้อีกต่อไปได้ นี่คือบทบัญญัติของลูกหนี้ที่กฎหมายรองรับไว้
ขณะเดียวกัน ในฝั่งเจ้าหนี้เอง กฎหมายก็มีเจตนารมณ์ว่า เมื่อลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือมีหนี้มากกว่าที่จะจ่ายได้หมด ทำอย่างไรให้มีการเฉลี่ยทรัพย์ของลูกหนี้กับเจ้าหนี้แต่ละรายอย่างเป็นธรรม ก็เลยมีบทบัญญัติกฎหมายล้มละลายตรงนี้ออกมา เพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ด้วย
แต่ที่ผมกำลังจะพูดถึงคือ สิทธิอีกประการหนึ่งก่อนที่จะไปถึงกระบวนการล้มละลายก็คือ ‘สิทธิในการยื่นขอฟื้นฟูหนี้สิน’ ถ้าเป็นฝั่งธุรกิจอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘ฟื้นฟูกิจการ’ แต่ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ผมอยากให้ใช้คำว่า ‘ฟื้นฟูหนี้สิน’
กระบวนการฟื้นฟูหนี้สิน คือ การยื่นขอเจรจากับเจ้าหนี้ทุกรายพร้อมกัน ว่าด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากตอนที่เขาทำสัญญากู้เงินกับเจ้าหนี้เมื่อครั้งก่อน เขาอยากจะมาเจรจากับเจ้าหนี้ทุกรายพร้อมกัน ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการชำระหนี้ต่างๆ อย่างไรได้บ้าง เพื่อที่จะไปด้วยกันได้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้แต่ละราย ซึ่งผมมองว่าจริงๆ แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย
ต้องมองแยกเป็น 2 ส่วน คือกระบวนการฟื้นฟูหนี้สิน กับกระบวนการล้มละลาย ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป?
ใช่ครับ ถ้าขยายเพิ่มอีกนิดหนึ่งก็คือ ในฝั่งของภาคธุรกิจอาจจะคุ้นเคยกับคำว่าฟื้นฟูกิจการ ฟื้นฟูกิจการก็คือ เมื่อธุรกิจเริ่มไปไม่รอดแล้ว หรืออาจจะไม่ถึงขนาดไปไม่รอด แต่มีปัญหาสภาพคล่อง ณ ช่วงสั้นๆ ถ้าผ่านปัญหาสภาพคล่องนี้ไปได้ ธุรกิจก็จะมีโอกาสฟื้นตัวกลับมา เพราะต้องยอมรับว่าในโลกของธุรกิจมันมีขึ้นมีลง ช่วงบางจังหวะอาจจะได้รับผลกระทบในระยะสั้นๆ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้สินตามที่ตกลงกับเจ้าหนี้ไว้ได้ แต่ถ้าผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ ธุรกิจก็จะมีโอกาสฟื้นกลับมา
ดังนั้น กฎหมายก็เลยบอกว่า ก่อนที่จะล้มละลายควรเปิดช่องให้ภาคธุรกิจยื่นขอฟื้นฟูกิจการก่อน เพราะถ้าไปบีบให้ล้มละลายอย่างเดียว มันเป็นการเสียโอกาสกับทุกฝ่าย หมายความว่า ขอเพียงให้ธุรกิจนั้นรอดในช่วงเวลาสั้นๆ จริงๆ แล้วเขาจะสามารถกลับมาทำธุรกิจต่อได้ แล้วก็มีโอกาสจ่ายชำระคืนกับเจ้าหนี้ทุกๆ รายได้ มากกว่าที่จะถูกยึดทรัพย์และขายทรัพย์ตอนนี้เลย เพราะบางทีมันไม่ใช่แค่เรื่องของทรัพย์สิน แต่เป็นเรื่องของกระแสเงินสดที่ในอนาคตมันอาจจะเกิดขึ้น และจะสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจได้ กฎหมายก็เลยหาทางรองรับและอะลุ่มอล่วยกับลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในช่วงสั้นๆ นี้ จึงมีบทบัญญัติที่ต่อเนื่องกันคือ การฟื้นฟูกิจการกับการล้มละลาย เพียงแต่ว่าที่ผ่านมา ทั้งหมดให้สิทธิเฉพาะภาคธุรกิจเท่านั้น
ทีนี้ก็เลยมีคำถามว่า ทำไมบุคคลธรรมดาถึงไม่ได้รับสิทธินั้นด้วย เพราะในโลกของธุรกิจเองไม่ได้มีแค่นิติบุคคล อย่างบ้านเราก็มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา ถ้าไปดูตัวเลขจดทะเบียนบริษัทน่าจะอยู่ที่ประมาณ 500,000 บริษัท ส่วน SMEs มีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย ก็ชัดเจนว่ามีคนจำนวนมากที่ประกอบธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาอยู่ ถ้าเราปิดกั้นไม่ให้บุคคลธรรมดาเหล่านั้นสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการหรือฟื้นฟูหนี้สินตรงนี้ได้ มันก็เป็นการตัดสิทธิผู้ประกอบการ SMEs จำนวนเป็นล้านรายออกไปจากการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราก็เห็นว่าสิทธิของลูกหนี้ไม่ได้เป็นไปตามหลักสากล แต่ผมเชื่อว่าในเมื่อกฎหมายมีวิวัฒนาการในตัวเองอยู่แล้ว ผมจึงอยากจะรณรงค์เชิญชวนให้ทุกท่านมาช่วยกันสนับสนุน เพื่อผลักดันให้สิทธิของลูกหนี้ในประเทศไทยก้าวข้ามไปอีกขั้นหนึ่ง
การจะแก้ไขกฎหมายนี้ให้ครอบคลุมถึงลูกหนี้รายย่อย ควรเริ่มปรับเปลี่ยนตั้งแต่นิยามของลูกหนี้เลยไหม
สิ่งที่ผมพยายามสื่อสารก็คือ เปลี่ยนจากคำว่าฟื้นฟูกิจการ เป็นการฟื้นฟูหนี้สินโดยสมัครใจ เพราะการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้สินจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ถ้าคนอยากจะเบี้ยวหนี้แล้วก็ไปยื่นขอล้มละลายเลย ผมว่าอันนั้นจะเกิดปัญหาในเชิงเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า moral hazard ที่ว่าทุกคนก็อยากจะเบี้ยวหนี้โดยสมัครใจ แต่จริงๆ เจตนาไม่ใช่แบบนั้น เจตนาคือทำอย่างไรจะแก้ไขจุดนี้ได้ จากเดิมลูกหนี้ต้องไปเจรจากับเจ้าหนี้ทีละราย แล้วบางทีอำนาจต่อรองก็ไม่เท่ากัน ทำไมเราไม่ใช้กระบวนการที่ให้ลูกหนี้สามารถเจรจากับเจ้าหนี้ทุกรายพร้อมๆ กันได้ ผมคิดว่าแบบนั้นจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้และเจ้าหนี้มากกว่า นั่นคือเหตุผลที่ผมพยายามรณรงค์
สุดท้ายแล้วก็ต้องกลับไปแก้ พ.ร.บ.ล้มละลาย เพราะเป็นกฎหมายหลักสำหรับดำเนินการเรื่องนี้ ดังนั้นก็ควรจะอยู่ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้แหละ แต่ว่าแยกเป็นอีกหมวดหนึ่ง
ในรายละเอียดของตัวกฎหมาย อยากให้ช่วยไล่เลียงเป็นข้อๆ ว่า ควรแก้ไขจุดไหนบ้างที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่
ต้องเล่าก่อนว่าปัจจุบัน ครม. เองก็มีความพยายามยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย ขึ้นมา เจตนาเขาดี ผมศึกษาแล้วก็เห็นด้วยในหลายๆ อย่าง เช่น ช่วยให้ SMEs ยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้ง่ายขึ้น จากเดิมกำหนดให้มีเพดานหนี้อยู่ที่ 10 ล้านบาท ก็มีการขยายเพดานหนี้สำหรับธุรกิจ SMEs ขึ้นไปถึง 50 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุม SMEs ขนาดกลางขึ้นมามากขึ้น ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่มีรายละเอียดบางอย่างที่ผมคิดว่าควรจะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นไปด้วย
ถ้าดูจากร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ยังมีข้อจำกัดที่ว่า บุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจ หรือเป็น SMEs ต้องมีมูลหนี้ขั้นต่ำคือ 2 ล้านบาท จึงจะสามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้ ถ้าเป็นนิติบุคคลก็ต้องมีมูลหนี้ขั้นต่ำ 3 ล้านบาท ถึงจะยื่นฟื้นฟูกิจการได้ อันนี้เป็นการตีกรอบข้อจำกัดสิทธิของลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการเข้าสู่ช่องทางฟื้นฟูกิจการ เพราะถ้าหากเขามีหนี้ไม่ถึง 2 ล้านบาท กลายเป็นว่าเขาไม่สามารถใช้ช่องทางฟื้นฟูกิจการได้ ซึ่งก็เป็นการจำกัดสิทธิของลูกหนี้ตรงนั้น นี่คือประเด็นหลักๆ
ถ้าผมจะเสริมเพิ่มเติมจากร่างของกฤษฎีกา ผมคิดว่าประเด็นนี้ควรจะได้มีการทบทวนเมื่อร่างของกฤษฎีกาผ่านเข้ามาอยู่ในกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎร เพราะว่าเมื่อเข้ามาสู่สภาแล้วก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อพิจารณาเป็นรายมาตรา ในประเด็นนี้ผมคิดว่าน่าจะต้องเสนอคณะกรรมาธิการว่า ในเมื่อเราจะเปิดช่องขยายให้สิทธิของลูกหนี้กว้างขึ้นแล้ว ทำไมถึงยังต้องมีการจำกัดสิทธิของลูกหนี้ด้วยวงเงินหนี้ตรงนี้ด้วย
ถ้าไปดูตัวอย่างของต่างประเทศ เขาไม่ได้มีจำกัดวงเงินนะ เพราะเขามองว่ากระบวนการทางกฎหมายอันนี้เป็นสิทธิของลูกหนี้ที่ถูกรองรับตามกฎหมาย จึงไม่ได้มีการจำกัดว่าลูกหนี้ต้องมีมูลหนี้เกิน 2 ล้านบาทขึ้นไป หรือ 3 ล้านบาทขึ้นไป เพราะถ้าเจตนาของกฎหมายคือการคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ ทำไมถึงต้องมีการจำกัดสิทธิตรงนั้น
ประเทศไทยเคยแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ไปแล้วรอบหนึ่งในช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะต้องคำนึงถึงธุรกิจ SMEs มากขึ้น แต่เอาเข้าจริงแล้วในรายละเอียดก็ยังมีข้อจำกัดที่ SMEs เข้าไม่ถึงกฎหมายนี้อยู่ใช่ไหม
ใช่ครับ นั่นจึงเป็นที่มาว่า ร่างกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่กำลังยกร่างกันอยู่ก็พยายามที่จะแก้ไขตรงนั้น ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสดี ไหนๆ เขาก็จะพิจารณาแก้ไขประเด็นนั้นสำหรับ SMEs แล้ว ผมคิดว่าทำไมไม่ขยายสิทธิของลูกหนี้ให้รองรับบุคคลธรรมดาไปด้วย
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากสื่อสารมาตลอดก็คือ เหตุผลที่ต้องการให้ลูกหนี้บุคคลธรรมดามีสิทธิเข้ายื่นฟื้นฟูหนี้สินได้นั้น ผมอยากยกประโยชน์ของเจ้าหนี้ให้ฟัง ทุกคนจะได้เข้าใจตรงกันก่อนว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เป็นประโยชน์กับตัวลูกหนี้เท่านั้น ประการแรกคือ จะเกิดความเป็นธรรมกับเจ้าหนี้แต่ละราย จากเดิมลูกหนี้ต้องไปเจรจากับเจ้าหนี้ทีละราย ถ้าเจ้าหนี้รายไหนเจรจาได้ก่อน เจ้าหนี้รายนั้นก็อาจจะได้เปรียบกับเจ้าหนี้รายอื่นๆ นี่ก็เลยเป็นที่มาของความไม่เป็นธรรมของเจ้าหนี้แต่ละราย
เรื่องของการติดตามทวงหนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งว่า เหมือนไปติดตามรังควานลูกหนี้จนเกินความจำเป็น เพราะเจ้าหนี้ก็มีการแก่งแย่งกันเพื่อจะเข้าถึงทรัพย์ของลูกหนี้ที่มีจำกัด ใครเข้าไปถึงก่อนก็ได้ก่อน ใครเจรจาก่อนก็ได้ก่อน นี่คือความไม่เป็นธรรมของเจ้าหนี้แต่ละราย แต่ถ้าเกิดว่าลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้สิน ก็จะเกิดการเจรจากับเจ้าหนี้ทุกรายพร้อมๆ กัน ดังนั้นประโยชน์ประการแรกคือ เกิดความเป็นธรรมระหว่างเจ้าหนี้แต่ละราย
ประโยชน์อย่างที่สองก็คือ เมื่อลูกหนี้ยื่นขอฟื้นฟูหนี้สินบุคคลธรรมดาโดยสมัครใจ ก็จะเป็นประโยชน์ให้เจ้าหนี้สามารถติดตามตรวจสอบสถานะของลูกหนี้ได้ ซึ่งสภาวการณ์ปัจจุบันก็คือลูกหนี้ค้างจ่ายไปเลย หายไปเลย หรือติดต่อไม่ได้เลย เพราะว่าลูกหนี้ไม่มีช่องทางอื่นในการขอฟื้นฟูหนี้สินก็เลยหายไปเลย สำหรับตัวสถาบันการเงินหรือว่าเจ้าหนี้ แน่นอนว่าไม่มีใครรู้สภาวการณ์การเงินของลูกหนี้ได้ดีที่สุดเท่ากับตัวลูกหนี้เอง ดังนั้นถ้ามีช่องทางเจรจาฟื้นฟูหนี้สินให้กับลูกหนี้ ก็จะเป็นประโยชน์กับเจ้าหนี้ด้วย
เมื่อลูกหนี้ยื่นขอฟื้นฟูหนี้สินก็จะทำให้ทราบสถานะของลูกหนี้ ว่ามีทรัพย์สิน หนี้สิน รายได้ รายจ่ายเท่าไร ทำให้เจ้าหนี้มีข้อมูล แต่ถ้าไม่มีกระบวนการนี้เจ้าหนี้ก็อาจจะไม่ทราบเลย ซึ่งก็อาจจะทำให้เกิดอีกเหตุการณ์ตามมา และเป็นสิ่งที่โลกทุนนิยมไม่อยากให้เกิดขึ้นก็คือ การไปกู้เพิ่มเพื่อมาจ่ายหนี้เดิม เพราะนั่นหมายถึงว่า เป็นการซ้ำเติมลูกหนี้ และ เป็นการเพิ่มเติมหนี้เสียในอนาคตที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้าลูกหนี้สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูได้ อย่างน้อยก็จะช่วยป้องกันเหตุการณ์แบบนั้นได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจการเงินในภาพรวมด้วย
เมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้สิน ในทางกฎหมายสามารถกำหนดให้มีคำสั่งศาลได้ เช่น ถ้าลูกหนี้เป็นพนักงานประจำ มีรายได้ประจำตลอดเวลา ศาลก็อาจมีคำสั่งให้หักเงินเดือนบางส่วนเพื่อเอามาชำระหนี้ได้ ซึ่งอันนี้เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ ทำให้เจ้าหนี้ได้ความสบายใจขึ้น ว่าเมื่อลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูแล้ว อย่างน้อยเจ้าหนี้ก็ยังได้รับเงินจากลูกหนี้บ้าง ถึงแม้ยอดผ่อนชำระหนี้จะลดลง ซึ่งก็เป็นประโยชน์กว่าการที่จะไปติดตามทวงหนี้กันเองเพียงลำพังเหมือนสมัยที่ไม่มีช่องทางนี้
ในฝั่งลูกหนี้ แน่นอนว่าสิ่งที่เขาจะได้ประโยชน์คือ การลดภาระหนี้ จากเดิมที่เขามีปัญหาสภาพคล่อง ไม่มีกำลังทางการเงินที่จะผ่อนจ่ายได้ แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู สิ่งที่ลูกหนี้จะได้แน่นอนคือ ภาระหนี้ที่เขาต้องเผชิญในแต่ละเดือนจะลดลง พอหายใจโล่งขึ้น สามารถตั้งหน้าตั้งตาทำงานโดยไม่ต้องมีโทรศัพท์มาติดตามทวงหนี้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ใครอยากจะเจออยู่แล้ว
ฉะนั้น ประโยชน์ของลูกหนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู หนึ่ง คือลดภาระหนี้ สอง ได้ทราบวันสิ้นสุดของการปลอดหนี้ ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ลูกหนี้ทุกคนก็อยากจะทราบว่า เอ้ย ฉันจะหลุดพ้นจากวังวนหนี้เมื่อไร ถ้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูได้ มีการเจรจากันแล้วว่าจะปรับลดหนี้ หรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขชำระหนี้อย่างไร พอรู้ว่าตัวเองมีวันสิ้นสุดของวงจรนี้ได้ ทุกคนก็จะมีกำลังใจในการตั้งหน้าตั้งตาทำงาน แล้วก็หาเงินมาชำระหนี้ได้ จากเดิมที่ลูกหนี้ต้องอยู่ในสภาวะหมุนเงินไม่ได้ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หมดกำลังใจทำงาน แล้วก็รู้สึกว่าต้องผ่อนดอกเบี้ยไม่มีสิ้นสุด
ประโยชน์ข้อสำคัญของการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู คือการป้องกันไม่ให้เป็นบุคคลล้มละลาย และไม่ถูกยึดทรัพย์ เพราะลูกหนี้ตัดสินใจเลือกช่องทางในการยื่นขอฟื้นฟู เจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากกว่า
สุดท้ายก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่ดีที่ทำให้ลูกหนี้มีโอกาสเข้าถึงความรู้ มีโอกาสปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะมายื่นขอฟื้นฟู อย่างน้อยก็ต้องมีกลไกคนกลาง มีที่ปรึกษาทางการเงิน หรือที่ปรึกษาทางเครดิต เข้ามาช่วยออกแบบแผนฟื้นฟูหนี้สินให้ ว่าควรจะต้องมีหน้าตายังไง จากข้อมูลที่ลูกหนี้เป็นคนแจ้งมา ทั้งทรัพย์สิน หนี้สิน รายได้ รายจ่าย
คนส่วนใหญ่ค่อนข้างขาดความรู้ทางการเงิน ปัญหานี้จะแก้อย่างไร
ผมยกตัวอย่าง คนจบปริญญาตรีทุกวันนี้ก็ไม่ได้เรียนหรือเข้าถึงความรู้ทางการเงินเป็นภาคบังคับ โดยเฉพาะ personal finance หรือความรู้ทางการเงินส่วนบุคคล ซึ่งอันนี้ก็เป็นประเด็นปัญหาว่า นี่ขนาดถ้าเรียนปริญญาตรียังไม่มีความรู้ทางการเงิน แล้วคนที่มีโอกาสทางการศึกษาน้อยกว่านั้น แน่นอนว่าเขาก็ต้องไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการเงินของตัวเอง ทำให้มีโอกาสผิดพลาดได้ เขาอาจไปกู้เงินนอกระบบ หรือแม้กระทั่งในระบบ จนเกินความสามารถที่จะจ่ายได้ เพราะว่าเขาขาดความรู้ตรงนี้
อย่างความรู้ความเข้าใจเรื่อง ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เรียกได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ลำดับที่ 8 มันก็มีด้านอันตราย ดอกเบี้ยทบต้นมันจะทำร้ายชีวิตคนเยอะมาก เช่นเดียวกัน ถ้าพอเข้าใจศักยภาพของดอกเบี้ยแล้ว เราจะรู้ถึงคุณค่าของการออม การลงทุน
คือผมว่ามันมาคู่กันนะ ถ้าคนรู้ถึงอันตรายของดอกเบี้ย เขาก็จะเข้าใจประโยชน์ของการลงทุน ว่าเก็บออมวันนี้ แล้วเอาไปลงทุนที่มากกว่าเงินฝาก สิ่งนี้มันจะเป็นประโยชน์กับตัวเขาเองในอนาคต เป็นเงินออม เงินเก็บ สำหรับเมื่อเขาเกษียณ เช่นเดียวกัน ถ้าเรามองตรงนี้ว่าเป็นโอกาส เป็นช่องทางหนึ่งให้คนทั่วไปที่มีปัญหาเรื่องหนี้ เข้าถึงช่องทางความรู้ตรงนี้ได้ ผมว่าก็เป็นอะไรที่น่าสนใจและควรผลักดันต่อ
แม้แต่นักศึกษาที่เรียนด้านการเงินโดยตรง แต่พอถึงสถานการณ์จริงก็อาจจะไม่มีความสามารถในการจัดการที่ดีพอ เราจะส่งเสริมหรือยกระดับความรู้ตรงนี้ให้ประชาชนทั่วไปอย่างไรได้บ้าง
ผมคิดว่าควรจะเริ่มกันตั้งแต่ ม.ต้น ควรจะเข้าใจว่าเรื่องการเงินคืออะไร อะไรคือการออม อะไรคือดอกเบี้ย คำนวณยังไง แล้ว ม.ปลาย ก็อาจจะเรียนรู้เรื่องภาษี เรื่องการลงทุน ผมคิดว่านี่ควรจะเป็นความรู้ทั้งในระดับ ม.ปลาย รวมถึงอาชีวะด้วย แล้วระดับมหาวิทยาลัยก็ค่อยลงลึกทางเทคนิค
ปัจจุบันคนที่จะเรียนด้านการเงินต้องเป็นระดับปริญญาตรีเท่านั้นถึงมีโอกาสได้เรียน ส่วนสาขาอื่นไม่ได้มีโอกาสนั้นเลย ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมกันเอง ซึ่งถ้าใครไม่ได้ศึกษาเพิ่มเติมตรงนั้นก็อาจไม่เข้าใจอันตรายของดอกเบี้ย หรือมองไม่เห็นโอกาสของการลงทุน ดังนั้นการศึกษาเรื่องการเงินควรจะเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ ม.ต้น เน้นไปที่ความรู้รอบตัวของจริง แล้วที่เหลือก็เป็นการศึกษาค้นคว้าต่อ เพราะในชีวิตจริง ในการทำงานจริง ความรู้เรื่องการเงินจะอยู่กับเราตลอดชีวิตแน่นอน
ในความเป็นจริงถึงแม้บางคนจะมีความรู้ทางการเงินแล้ว แต่พอทำธุรกิจก็ยังผิดพลาดล้มเหลว เราจะมองเรื่องนี้อย่างไร
ผมมองเป็น 2 ประเด็นนะ คือถ้าเป็นเรื่องของธุรกิจ ด้วยความที่ผมก็อยู่ในวงการธุรกิจมา ต้องยืนยันเลยว่า ธุรกิจมันมีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ เป็นเรื่องปกติของโลกทุนนิยม ถ้าทุกคนทำธุรกิจสำเร็จหมด แสดงว่านั่นไม่ใช่ทุนนิยมแล้ว
ในโลกทุนนิยม การทำธุรกิจย่อมมีคนล้มเหลวอยู่แล้วตามกลไกการแข่งขัน ถ้าคนทำธุรกิจนั้นไม่ตอบโจทย์ตลาดก็ต้องล้มหายตายจากไป แต่ขณะเดียวกัน ถึงแม้คนกลุ่มนั้นจะทำธุรกิจไม่สำเร็จ เขาก็ควรได้รับสิทธิในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้สิน หรือกระบวนการล้มละลาย
แต่ในกรณีที่คนกู้เงินมาเกินตัว หรือคนที่ใช้จ่ายเกินตัว อันนั้นก็อีกประเด็นหนึ่ง ผมเลยอยากให้มองแยกจากกัน ถ้าเรื่องธุรกิจก็เป็นเรื่องปกติของโลกทุนนิยม แต่ถ้าเป็นเรื่องการกู้หนี้ยืมสิน การใช้จ่ายเกินตัว อันนี้ผมว่าเป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจ ว่าทุกสิ่งในการกระทำนั้นมีผลลัพธ์ของมัน ถ้าเขาเข้าใจเรื่องดอกเบี้ย ก็จะรู้อันตรายของดอกเบี้ยจากการกู้ยืมมาใช้บริโภคเกินความจำเป็น
ในกระบวนการฟื้นฟูหนี้สิน เข้าใจว่ายังมีอุปสรรคอยู่บางข้อ เช่น ศักยภาพของลูกหนี้ ในการที่จะไปนั่งเจรจาในที่ประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งคงมีน้อยรายที่จะทำได้ อีกอันคือความสามารถในการทำ ‘แผนการฟื้นฟูหนี้’ ตรงนี้จะมีข้อเสนออย่างไรในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้บ้าง
ในเรื่องการทำแผนฟื้นฟูหนี้ ถ้าดูโมเดลของอเมริกา เขาจะมีที่ปรึกษาทางการเงินหรือที่ปรึกษาด้านสินเชื่อ ซึ่งจะเป็นกลไกกลางในการให้ความรู้ และเมื่อมีข้อมูลของลูกหนี้ หนี้สิน ทรัพย์สิน รายได้ รายจ่าย เขาสามารถแนะนำแผนออกมาได้ว่า จากข้อมูลที่ได้รับมาจากลูกหนี้รายนั้นแล้วควรจะมีแผนฟื้นฟูหนี้สินอย่างไร เพื่อให้ไปคุยหรือไปเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ได้
แน่นอนว่าเรื่องที่ปรึกษาทางการเงินเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมก็ยอมรับว่าเป็นอุปสรรค ผมอยากให้มองว่ามันเป็นโครงสร้างหนึ่งของระบบการเงิน หรือมองว่าเป็นสิทธิของลูกหนี้ที่ประเทศไทยควรจะมี แล้วต้องมีกฎหมายรองรับอย่างเป็นทางการ ซึ่งแน่นอนมันอาจจะมาจากการสนับสนุนโดยหน่วยงานรัฐ อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแม้กระทั่งกระทรวงยุติธรรม หรือศาล
ผมคิดว่าภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาให้การสนับสนุน หรือหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนให้เกิดกลไกที่ปรึกษาทางการเงินขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงมีความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นสมาคมที่ปรึกษาทางการเงินที่ปัจจุบันก็มีอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันเน้นไปในแง่ของการลงทุนเสียมากกว่า หรือแม้กระทั่งตัวแทนของสมาคมธนาคาร ผมว่าก็มีความเหมาะสม อาจจะมีการสร้างหลักสูตร หรือแนวทางในการทำแผนฟื้นฟูหนี้ ว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ถ้าเราเอาภาคเอกชนมาร่วมมือด้วย แล้วผลักดันให้เกิดหน่วยงานหรือองค์กรประเภทที่ปรึกษาทางการเงินหรือที่ปรึกษาด้านสินเชื่อขึ้นมาเพื่อรองรับกับระบบการเงิน อันนี้ก็จะปลดล็อคข้อจำกัดตรงนี้ได้ เพราะถ้าให้ลูกหนี้เป็นคนทำแผนเองทั้งหมด หรือให้ศาลทำแผนเองทั้งหมด ก็คงเป็นไปได้ยากในแง่ของความเป็นจริง แต่ถ้าหากเรามีมืออาชีพที่ทำเรื่องนี้เป็นกิจจะลักษณะ มีกฎหมายรองรับ มีหน่วยงานที่ปรึกษาทางการเงินโดยตรง ก็จะช่วยปลดล็อคอุปสรรคในการทำแผนฟื้นฟูหนี้สินของลูกหนี้ได้
แน่นอนว่าเรื่องการประชุมเจ้าหนี้ ก็คงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นการคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้แต่ละราย เพื่อให้เจ้าหนี้แต่ละรายรับทราบ แล้วเข้ามาร่วมประชุม และพิจารณาแผนฟื้นฟูของลูกหนี้ร่วมกัน ถ้าเห็นแย้งหรือเห็นด้วยก็คุยกันในที่ประชุม และเมื่อตกลงกันได้แล้วก็เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้สินตามกฎหมายกำกับต่อไป
ถ้าให้หน่วยงานรัฐที่มีอยู่เดิมเข้ามาช่วยดูแลตรงนี้ด้วยจะไหวไหม
ถ้าประเมินตอนนี้ผมคิดว่าจำเป็นต้องสร้างกลไกขึ้นมาใหม่ เพราะถ้าจะให้กรมบังคับคดีหรือให้ศาลมาช่วยทำแผนฟื้นฟูหนี้ ก็คงเป็นไปได้ยากที่หน่วยงานเหล่านั้นจะมีกำลังไหวเมื่อเทียบกับจำนวนลูกหนี้ในปัจจุบัน แต่ถ้าเรามีอีกกลไกหนึ่งเข้ามาช่วย อาจจะเป็นภาคเอกชนก็ได้ เพราะมีความคล่องตัวกว่า แต่ในปัจจุบันเรายังไม่มีหน่วยงานประเภทนี้เลย นี่จึงเป็นอุปสรรคหนึ่ง เพราะทุกอย่างก็เหมือนไก่กับไข่ พอไม่มีกฎหมายรองรับ มันก็เลยไม่มีกลไกนี้ เมื่อมีกฎหมายรองรับ กลไกนี้มันถึงจะเริ่มเดิน ผมคิดว่าอันดับแรกต้องมีกฎหมายรองรับก่อน เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าแค่แก้กฎหมายแล้วจบ อันนี้ก็ต้องพูดตรงไปตรงมาว่า มันไม่ได้เป็นยาวิเศษที่ดีดนิ้วแล้วเรื่องหนี้สินทุกอย่างจะจบ เพียงแต่มันเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้ก้าวเดินไปสู่การจัดการหนี้สินที่ดีขึ้นของประเทศไทยได้
ที่ผ่านมาสถาบันการเงินยังพอรับมือกับวิกฤติลูกหนี้ได้อยู่ไหม
ขึ้นอยู่กับมองในมุมไหน ปี 2564 ถ้าเอาเฉพาะกำไรของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งมารวมกันก็ราวๆ 1.8 แสนล้าน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4.5 หมื่นล้าน คือกำไรไม่ได้ลดมากนะ ถ้าเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมต้องบอกว่า ภาคธนาคารไทยยังมีความเข้มแข็งอยู่ระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากตั้งคำถามกลับมาเหมือนกันว่า แสดงว่าจริงๆ แล้วภาคธนาคารหรือสถาบันทางการเงินอาจจะยังมีกำลังช่วยเหลือลูกหนี้ในวิกฤติได้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ แต่โอเค…ก็แล้วแต่มุมมอง มุมมองที่ว่า ธนาคารเป็นสถาบันเอกชนก็เข้าใจได้ เพียงแต่ว่าถ้าให้ผมประเมินจากตัวเลข มันก็สะท้อนว่าสถาบันการเงินไทยเข้มแข็งมาก คือจะเรียกว่ากำไรมาก มีทุนมาก มีการตั้งสำรองเอาไว้มาก ดังนั้นในแง่ของความกังวลว่าจะเกิดวิกฤติทางการเงินนั้น ผมกล้ายืนยันว่าไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 ปีนี้
ดังนั้นจึงกลับมาที่คำถามว่า ในเมื่อเจ้าหนี้หรือสถาบันทางการเงินยังเข้มแข็งขนาดนี้อยู่แล้ว ทำไมเราไม่พูดถึงสิทธิของลูกหนี้ที่ควรจะยกระดับขึ้นมาให้มากขึ้นเทียบเท่าหลักสากล ซึ่งควรจะมีการพูดคุยกันมากกว่านี้
ยังมีช่องโหว่ในสิทธิของลูกหนี้ด้านอื่นๆ อีกไหมที่จะต้องแก้ไข
ผมว่าเรื่องใหญ่ๆ ก็มีเท่านี้ ที่เหลือจะเป็นรายละเอียดยิบย่อยแล้วว่าจะมีกระบวนการกี่เดือน ใช้ระยะเวลาเท่าไรยังไง แต่ว่าเรื่องใหญ่ๆ ก็มีการคุยกันแล้วในพรรคการเมืองกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ว่า ถ้าอย่างนั้นไหนๆ ก็เป็นโอกาสดีที่ ครม. กับคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างนี้ขึ้นมา ถ้าเกิดว่าเราจะยกร่างขึ้นไปประกบกับร่างของ ครม. เพื่อที่จะขยายหลักการให้กว้างขึ้น คือรับรองสิทธิของลูกหนี้ให้มากกว่าที่กำหนดไว้ ผมว่าก็เป็นโอกาสที่ดี เพราะถ้าหากขยายหลักการได้ อย่างน้อยก็ยังมีโอกาสที่จะเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนอะไรได้
พูดถึงข้อกังวลอีกด้านหนึ่งที่อาจจะมีคนมองว่า ถ้ามีกฎหมายแบบนี้อาจจะทำให้ลูกหนี้เสียวินัยทางการเงิน เกิดหนี้เสียจำนวนมาก หรือที่เรียกว่าชักดาบ เราจะเชื่อมั่นตรงนี้ได้อย่างไร
สิ่งหนึ่งที่มีข้อเท็จจริงชัดเจนว่า เรามีช่องทางการฟื้นฟูกิจการของภาคธุรกิจตั้งแต่ปี 2542 ก็คือหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ในเรื่องของหนี้เสียจากธุรกิจจะพบว่ามันก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นหลังจากเราเปิดช่องทางนั้น อันนี้ก็เป็นข้อเท็จจริงที่เห็นชัดเจนอยู่แล้ว แล้วก็เป็นสิ่งที่ต่างประเทศเขาปฏิบัติกันอยู่แล้ว ซึ่งมันก็ไม่เกิดเหตุการณ์อย่างที่กังวลกัน
อีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะต้องเพิ่มขึ้นมาก็คือ ในแง่ของสิทธิเจ้าหนี้ คือต่อให้ลูกหนี้ยื่นขอฟื้นฟูหนี้สินโดยสมัครใจ แต่สุดท้ายสิทธิของเจ้าหนี้ก็ยังได้รับการคุ้มครองอยู่ ก็คือเจ้าหนี้ยังมีสิทธิคัดค้านได้ คือถ้ามองว่าลูกหนี้รายนั้นมีศักยภาพ สามารถชำระหนี้ได้ และไม่ควรได้รับสิทธิในการขอฟื้นฟูหนี้สินนั้น เจ้าหนี้ก็ยังสามารถขอคัดค้านแล้วก็ยื่นฟ้องลูกหนี้ได้ตามกฎหมายปกติ ดังนั้นผมคิดว่าข้อกังวลนั้นถ้าดูตามข้อเท็จจริงหรือดูตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ผมก็ยังเชื่อว่าไม่ควรจะต้องมาจำกัดสิทธิของลูกหนี้
ก็คือไม่ต้องกังวลว่าลูกหนี้จะอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อจะเบี้ยวหนี้?
ใช่ครับ เพราะสุดท้ายมันก็มีกลไกตรวจสอบ แล้วเจ้าหนี้ก็มีสิทธิคัดค้าน ศาลก็มีสิทธิสั่งให้ยกฟ้อง ยกคำร้องได้อยู่แล้ว
ในการแก้ไขกฎหมายนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์กับเจ้าหนี้แล้ว ในกระบวนการยุติธรรมจะช่วยลดภาระให้ทางศาลด้วยไหม
ถ้ามีการแก้กฎหมายในประเด็นนี้แล้ว อย่างน้อยในกระบวนการขอฟื้นฟูหนี้สิน เจ้าหนี้ก็ไม่ต้องมาใช้สิทธิในการยื่นขอบังคับใช้หนี้ หรือว่าฟ้องล้มละลาย อันนี้ก็จะช่วยลดกระบวนการทางศาลลงได้ เพราะอย่างน้อยก็จะมีการพูดคุยกับเจ้าหนี้ทุกราย ดีกว่าที่เราจะไม่มีช่องทางนั้นแล้วกลายเป็นว่าเจ้าหนี้แต่ละรายต้องมายื่นฟ้องต่อลูกหนี้เอง ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นการช่วยลดภาระในกระบวนการศาลได้ด้วย
การรณรงค์ผลักดันแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ สถาบันการเงินเองควรจะเข้ามามีบทบาทมากน้อยแค่ไหน
ถ้าจะผลักดันให้เกิดขึ้นจริงๆ ก็ต้องมีสถาบันการเงินมาร่วมด้วยถึงจะไปกันได้ แต่แน่นอนว่าหลายๆ อย่างเขาอาจจะไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยความที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ มีอำนาจต่อรองเหนือกว่า ฉะนั้นฝั่งของประชาชนก็ต้องมาช่วยกันรณรงค์ ช่วยกันผลักดันตรงนี้เข้าไป แล้วสุดท้ายเมื่อมีการผลักดันเพียงพอ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องมาร่วมกันอยู่ดี ผมคิดว่าอย่างนั้นถึงจะไปกันได้
หมายความว่าอาจจะมีผู้เสียประโยชน์จากการแก้ไขกฎหมายนี้?
คือต้องยอมรับว่ามันเกิดความกังวลแน่นอน ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีความกังวลอยู่แล้ว เหตุผลหนึ่งที่ผมพยายามสื่อสารมาตลอด ว่าสิ่งที่เราต้องการให้มันเกิดขึ้นคือฟื้นฟูหนี้สินโดยสมัครใจนะ และอย่างน้อยก็จะต้องมีการยอมรับทั้งฝั่งลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่งก็อยู่ที่การสื่อสารเพื่อจะลดความกังวลตรงนั้น เอาข้อมูลข้อเท็จจริงมาตีแผ่ และให้ตัดสินใจร่วมกัน
ประเทศนี้ไม่ได้ปกครองด้วยสถาบันการเงิน แล้วก็ไม่ใช่มีสถาบันทางการเงินแค่ฝ่ายเดียว ยังมีภาคประชาชน ภาคลูกหนี้ หรือประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งควรมีข้อตกลงร่วมกัน กำหนดกติการ่วมกัน ผมเชื่อว่าเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย ยังสามารถผลักดันต่อได้
ปัจจุบันภาคประชาชนหรือทางฝั่งลูกหนี้มีความเข้มแข็งมากแค่ไหนในการรวมตัว
ถ้าให้ประเมินผมคิดว่าอาจจะยังไม่เข้มแข็งนัก ประเทศอื่นเขาจะมีสมาคมลูกหนี้ มีชมรมลูกหนี้ หรือชมรมที่ให้ความรู้ทางการเงิน หรืออาจมีกลไกอื่นๆ ที่ให้ความรู้ทางการเงิน เพื่อปกป้องประโยชน์สิทธิของลูกหนี้ จะเห็นว่ากว่าที่เราจะมีการรณรงค์ให้เกิดการปรับเปลี่ยนการคิดดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรมก็เพิ่งมาเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ แล้วที่ผ่านมาคืออะไร ที่ผ่านมาแสดงว่าเราปล่อยให้มีการเอาเปรียบลูกหนี้มาโดยตลอด อันนี้ก็สะท้อนว่าพลังของลูกหนี้เองในการรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องสิทธิอาจจะยังไม่มากพอ ซึ่งแน่นอนมันก็สะท้อนให้เห็นผ่านสิ่งนี้ว่า ทำไม พ.ร.บ.ล้มละลาย ของไทยจึงยังไม่มีช่องทางการฟื้นฟูหนี้สินสำหรับบุคคลธรรมดาเหมือนที่ต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นช่องว่างที่เราต้องผลักดันเรื่องนี้กันต่อไป
ช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมาสามารถปลุกพลังลูกหนี้ได้บ้างไหม
ผมมองว่าเป็นโอกาสดี ในวิกฤติใหญ่ๆ มักจะทำให้มีการทบทวนกันอีกครั้งหนึ่ง เหมือนวิกฤติต้มยำกุ้งที่ทำให้มีกฎหมายฟื้นฟูกิจการของ SMEs ที่จริงแล้วก่อนเกิดโควิดเราก็มีวิกฤติหนี้ครัวเรือนอยู่ก่อนแล้ว โควิดอาจเป็นแค่จุดทริกเกอร์ (trigger) ที่ซ้ำเติมแผลเดิมเท่านั้นเอง ก็เลยคิดว่ามันเป็นจังหวะที่ต้องรณรงค์เรื่องนี้กันอีกครั้ง
เรื่องการจัดการหนี้ที่เป็นธรรม เราจะสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับลูกหนี้อย่างไรได้บ้าง
ผมคิดว่าต้องมองกันตามข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาว่า ในสภาวะตอนที่เขาทำการกู้ยืม มันเป็นการตกลงที่จะยอมรับความเสี่ยงของทั้งสองฝ่าย ลูกหนี้ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงในการที่เขาต้องมาชำระหนี้สินคืน เจ้าหนี้ก็ยอมรับความเสี่ยงในสภาวะของลูกหนี้ที่มายื่นกู้ ถ้าตกลงใจกันแล้ว มันก็คือการตกลงยอมรับความเสี่ยงกันทั้งสองฝ่าย ส่วนอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เมื่อวันเวลาผ่านไปและเกิดความเสี่ยงเหล่านั้นขึ้นมาก็ต้องพูดคุยกัน ตกลงกันใหม่ได้ มันก็เป็นเรื่องปกติ ถ้าตัดเรื่องเจตนาฉ้อโกงออก อันนั้นผมว่ามันมี แต่เป็นเคสส่วนน้อย แล้วเอาข้อเท็จจริงมาพูดคุยกัน
การมีหนี้สินเป็นเรื่องที่ต้องมีการจัดการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของระบบการเงินที่ต้องมีการพูดคุยเจรจากัน จริงอยู่ว่าการกู้หนี้ยืมสินต้องเป็นไปตามสัญญา แต่ผมไม่อยากให้มองว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะในโลกของทุนนิยมหรือระบบการเงิน ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ อยู่ที่ข้อตกลงร่วมกัน
ถ้ากฎหมายไทยยังเน้นความเข้มงวดหรือบทลงโทษอย่างเดียว คือถ้าเบี้ยวนัดก็ยึดทรัพย์หรือฟ้องล้มละลาย สิ่งนี้ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาใช่ไหม
แน่นอนอยู่แล้ว อย่างที่ผมบอกว่า ถ้าเขาไม่มีทางออกจากวังวนหนี้ได้ เขาก็จะคิดว่าหนีไปเลยดีกว่า ชัตดาวน์ตัวเองไปเลย มันก็มีแรงจูงใจให้เกิดแบบนั้นอยู่ แต่ถ้าทุกอย่างเห็นทางออก ทุกอย่างเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เห็นวันที่หนี้สินนี้จะหมดสิ้นไป ผมว่ามันก็เป็นกำลังใจให้กับลูกหนี้ได้ดีที่สุดอยู่แล้ว อันนี้ก็ต้องกลับมาถามว่า ทำยังไงให้ทุกอย่างไม่ไปซ้ำเติมกับลูกหนี้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างดอกเบี้ยปรับล่าช้า นี่ชัดเจนที่สุด แล้วไม่ใช่ว่าเขาปรับล่าช้าแล้วคุณจะไปปรับเท่าไรก็ได้ เพราะถือว่าผิดสัญญาแล้วคุณจะทำอะไรก็ได้ อะไรอย่างนี้ เพราะนั่นคือการไม่เคารพสิทธิของลูกหนี้เลย แต่แน่นอนการปรับล่าช้า ทุกคนเห็นตรงกันว่ามันต้องมีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นกว่าดอกเบี้ยปกติ อันนี้ทุกคนเห็นด้วย แต่ไม่ใช่ว่าปรับเท่าไรก็ได้ อันนี้คือตัวอย่างของการจัดการหนี้ที่เป็นธรรม
มีประเด็นที่อยากจะเสริมทิ้งท้ายไหม
อาจจะเพิ่มอีกนิดหนึ่ง อย่างที่บอกว่า บางอย่างมันไม่ใช่แค่กฎหมายตัวนี้ตัวเดียว ผมว่าในเรื่องของหนี้สินมันมีหลากหลายประเด็น สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นชัดคือ ทำไมข้าราชการล้มละลายแล้วถึงถูกตัดสิทธิออกจากการเป็นข้าราชการ ผมว่าอันนี้เราน่าจะลองมาคิดกันใหม่
การล้มละลายไม่ใช่อาชญากรรม ไม่ใช่ว่าเขาทุจริตแล้วต้องถูกออกจากราชการ แต่เพียงแค่เขาดำเนินการทางการเงินผิดพลาด แล้วเขาไม่สามารถหลุดจากวงจรของหนี้สินเหล่านั้นได้
ถ้าเขาไม่ได้ทุจริต ไม่ได้ฉ้อโกงอะไร มันก็เหมือนอาชีพทั่วๆ ไปที่สามารถเกิดเหตุการณ์แบบนั้นได้ คนเราอาจผิดพลาดทางการเงินจนไปถึงจุดที่ล้มละลายแบบนั้นได้ แต่ทำไมถึงต้องไปตัดเขาออกจากอาชีพหลักของเขาด้วย ซึ่งอันนี้มันคือการซ้ำเติมคนคนหนึ่งให้หนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ
ผมเชื่อว่าข้าราชการเป็นอาชีพที่มีเกียรติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติกว่าอาชีพอื่น ฉะนั้นเมื่อเขาล้มละลายเขาก็ยังทำงานได้ ไม่ได้จำเป็นต้องออกกฎระเบียบเลยว่าถ้าล้มละลายแล้วคุณไม่มีสิทธิเป็นข้าราชการ ผมคิดว่าอันนี้เป็นกฎระเบียบดั้งเดิมที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย และเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องแก้ไข