ผลประเมินมาตรฐานสถาบันการเงินที่เป็นธรรม ปี 2564

04 กุมภาพันธ์ 2565

ผลการประเมินธนาคารไทย ครั้งที่ 4 ประจำปี 2564 ตามเกณฑ์มาตรฐานของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการในเกือบทุกด้านของทุกสถาบันการเงิน โดยธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1 ในปีนี้ ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต ด้วยคะแนน 54.47 คะแนน จากคะแนนเต็ม 130 คะแนน (หรือคิดเป็น 41.90%) ขณะที่ธนาคารกรุงไทย เป็นธนาคารที่มีพัฒนาการสูงสุดอันดับ 1 โดยได้คะแนนการประเมินเพิ่มขึ้น 50.40% เมื่อเทียบกับปี 2563

การประเมินมาตรฐานของธนาคารไทยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561-2564 โดย แนวร่วมทางการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) อันประกอบไปด้วย บริษัท ป่าสาละ จำกัด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และ International Rivers ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันในการผลักดันให้ภาคการเงินการธนาคารของไทยก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ (sustainable banking) อย่างแท้จริง

เกณฑ์มาตรฐานในการประเมินมีทั้งสิ้น 13 หมวด ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) การทุจริตคอร์รัปชัน 3) ความเท่าเทียมทางเพศ 4) สุขภาพ 5) สิทธิมนุษยชน 6) สิทธิแรงงาน 7) ธรรมชาติ 8) ภาษี 9) อาวุธ 10) การคุ้มครองผู้บริโภค 11) การขยายบริการทางการเงิน 12) นโยบายค่าตอบแทน 13) ความโปร่งใสและความรับผิด

โดยพิจารณาจากข้อมูลที่สถาบันการเงินเผยแพร่ต่อสาธารณะจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

ในการประเมินปีล่าสุดนี้ มีสถาบันการเงินไทยเข้าร่วมทั้งสิ้น 11 แห่ง ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารทิสโก้ รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอีก 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

‘ทหารไทยธนชาต’ ทำคะแนนสูงสุดอันดับ 1

หากมองในภาพรวมนับได้ว่าสถาบันการเงินไทยมีแนวโน้มในการพัฒนาที่ดีขึ้นเป็นลำดับ โดยภาพรวมของธนาคารทั้ง 11 แห่ง ได้คะแนนเฉลี่ยถึง 30.66 คะแนน จากคะแนนเฉลี่ยในปี 2563 อยู่ที่ 25.37 คะแนน (เพิ่มขึ้น 20.73%) 

สำหรับธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 6 อันดับแรก ได้แก่ 

  1. ธนาคารทหารไทยธนชาต สามารถทำคะแนนได้ถึง 54.47 คะแนน จากคะแนนเต็ม 130 คะแนน (คิดเป็น 41.90%) 
  2. ธนาคารกรุงไทย 43.80 คะแนน (33.69%) 
  3. ธนาคารกสิกรไทย 37.73 คะแนน (29.03%) 
  4. ธนาคารไทยพาณิชย์ 34.05 คะแนน (26.19%) 
  5. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 31.95 คะแนน (24.58%) 
  6. ธนาคารกรุงเทพ 30.19 คะแนน (23.23%) 

ความโดดเด่นของธนาคารทหารไทยธนชาตในปีนี้ อาทิ ‘หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ธนาคารสนับสนุนให้บริษัทลูกค้าเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน มีการประกาศนโยบายจำกัดการสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และ/หรือเหมืองถ่านหิน ไว้ไม่เกินร้อยละ 30 และร้อยละ 0 ของการสนับสนุนทางการเงินทั้งหมด และจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจทรายน้ำมัน 

นอกจากนี้ ธนาคารทหารไทยธนชาตยังประกาศนโยบายสินเชื่อโดยระบุว่า “ธนาคารตระหนักถึงผลกระทบจากพลังงานถ่านหินต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของชุมชนและสังคม ธนาคารจึงหยุดการให้สินเชื่อกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน โดยจะทยอยลดสัดส่วนสินเชื่อที่มีอยู่จนเป็นศูนย์”

ใน ‘หมวดสุขภาพ’ ธนาคารทหารไทยธนชาตได้คะแนนในปีนี้เป็นปีแรก จากการกำหนดให้บริษัทลูกค้าเคารพในสิทธิแรงงานว่าด้วยสุขอนามัยและความปลอดภัยในที่ทำงาน ตามอนุสัญญา ILO และ MNE Declaration

‘หมวดสิทธิมนุษยชน’ ธนาคารทหารไทยธนชาตมีการประกาศแนวปฏิบัติเพิ่มเติมด้านสิทธิมนุษยชนที่บริษัทลูกค้าต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ดี (best practices) ในระดับสากล เช่น กำหนดให้บริษัทลูกค้าระบุค่าชดเชยสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายถิ่นฐาน การมีกลไกการร้องเรียน และการประเมินผลกระทบต่อสังคม

‘กรุงไทย’ มีพัฒนาการสูงสุด

หากเปรียบเทียบความก้าวหน้าของแต่ละธนาคารจากผลการประเมินในปี 2564 กับปี 2563 พบว่า ธนาคารพาณิชย์ที่สามารถทำคะแนนเพิ่มขึ้นสูงสุด 4 อันดับแรก ได้แก่ 

  1. ธนาคารกรุงไทย (เพิ่มขึ้น 50.40%) 
  2. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (เพิ่มขึ้น 45.65%) 
  3. ธนาคารกสิกรไทย (เพิ่มขึ้น 40.88%) 
  4. ธนาคารไทยพาณิชย์ (เพิ่มขึ้น 23.83%) 

ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ 

  1. ธนาคารออมสิน (เพิ่มขึ้น 30.68%) 
  2. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เพิ่มขึ้น 24.66%) 

สำหรับพัฒนาการของคะแนนที่เพิ่มขึ้นในปี 2564 เทียบกับปี 2563 หมวดที่ธนาคารทั้งหมดได้คะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หมวดการคุ้มครองผู้บริโภค (เพิ่มขึ้น 1.06 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) หมวดธรรมชาติ (เพิ่มขึ้น 0.86 คะแนน) และหมวดการขยายบริการทางการเงิน (เพิ่มขึ้น 0.73 คะแนน)

หากพิจารณาความคืบหน้าทางนโยบายของธนาคารในแต่ละหมวด (จากจำนวนเกณฑ์ในแต่ละหมวดที่มีธนาคารอย่างน้อย 1 แห่งที่ได้คะแนน) พบว่า หมวดที่ธนาคารไทยมีความคืบหน้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หมวดสุขภาพ เพิ่มขึ้นจาก 1 ข้อ เป็น 8 ข้อ (เพิ่มขึ้น 43.8% ของจำนวนเกณฑ์ทั้งหมดในหมวดดังกล่าว) หมวดสิทธิมนุษยชน เพิ่มขึ้นจาก 5 ข้อ เป็น 9 ข้อ (เพิ่มขึ้น 33.3% ของจำนวนเกณฑ์ทั้งหมด) และหมวดธรรมชาติ เพิ่มขึ้นจาก 7 ข้อ เป็น 10 ข้อ (เพิ่มขึ้น 20% ของจำนวนเกณฑ์ทั้งหมด)

หลากประเด็นที่สถาบันการเงินตอบโจทย์สังคมไทย

เมื่อพิจารณาถึงหมวดที่ธนาคารได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุดในผลการประเมินนโยบายปีที่ 4 ยังคงเป็น 3 หมวดเดิมที่ธนาคารได้คะแนนสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2561 ที่เริ่มโครงการ Fair Finance Thailand โดย 3 หมวดดังกล่าว ได้แก่ การคุ้มครองผู้บริโภค (65.3%) การขยายบริการทางการเงิน (64.4%) และการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (43.2%)

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการประเมินในปีก่อนหน้า (2563) พบว่า ในปีนี้ธนาคารให้ความสำคัญกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศอย่างมาก ส่งผลให้คะแนนในหมวดนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก (จาก 3.3% เพิ่มเป็น 10.3%) แม้เคยเป็นหมวดที่ได้คะแนนต่ำสุด 3 อันดับสุดท้ายในปีก่อน 

หัวใจสำคัญที่ธนาคารไทยสามารถทำคะแนนได้เพิ่มขึ้นในปีนี้มาจากความชัดเจนในการประกาศนโยบายของแต่ละธนาคารที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นต่างๆ ที่สังคมคาดหวัง  โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG Risks (Environmental, Social and Governance) ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สุขภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเท่าเทียมทางเพศ การคุ้มครองผู้บริโภค และการขยายบริการทางการเงินที่เป็นธรรมและทั่วถึงต่อผู้บริโภค ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถาบันการเงินไทยเริ่มหันมาให้ความใส่ใจกับประเด็นความเสี่ยง ESG มากขึ้น

ผลประเมินธนาคาร ปี 2564 บ่งชี้ถึงความก้าวหน้า

หากถามว่า ผลการประเมินธนาคารประจำปี 2564 ให้คำตอบอะไรแก่สังคมไทยได้บ้าง อาจวิเคราะห์ได้จากผลคะแนนที่สะท้อนผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดในแต่ละหมวด ดังนี้

ประการแรก ธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คุกคามสุขภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมากขึ้น ดังเห็นได้จากการที่ธนาคารนำประเด็นดังกล่าวมาใช้ในการกำหนดนโยบายสินเชื่อ และทำให้ธนาคารได้คะแนนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ประการที่สอง ธนาคารเริ่มให้ความสำคัญและออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) เนื่องจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในบริบทของการประกอบธุรกิจเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการลงทุนข้ามพรมแดนของบริษัทไทย ซึ่งมักจะมีธนาคารขนาดใหญ่อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนทางการเงิน 

ประการที่สาม ธนาคารมีพัฒนาการด้านการขยายบริการทางการเงินและการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง ‘การกำกับดูแลการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม’ โดยในปีนี้หลายธนาคารมีการประกาศนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคที่มีความเฉพาะเจาะจง อธิบายกลไกการรับผิด และกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนของธนาคารที่ชัดเจนกว่าในปีที่แล้ว 

นอกจากนี้ ธนาคารไทยทุกแห่งยังมีความตื่นตัวต่อกระแสธนาคารดิจิทัล (digital banking) และมีการขยับขยายบริการทางการเงินไปยังกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จนถึงกิจการขนาดย่อมหรือขนาดจิ๋ว (MSME) นับเป็นพัฒนาการที่น่าชื่นชมและต่อเนื่อง

ประการสุดท้าย จากการแข่งขันทำคะแนนสู่การพัฒนาเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG risks) ทำให้ธนาคารเปิดเผยนโยบายที่ตรงกับเกณฑ์การประเมินมากขึ้น สะท้อนถึงบรรยากาศการแข่งขันกันอย่างชัดเจนเพื่อช่วงชิงอันดับการประเมิน อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียของธนาคารทุกฝ่ายและสังคมโดยรวม 

สำหรับความท้าทายในระยะต่อไป แนวร่วมฯ เห็นว่า ธนาคารควรเร่งปรับปรุงนโยบายสินเชื่อ (Credit Policy) ของธนาคาร รวมถึงการพัฒนารายการอุตสาหกรรมที่ธนาคารไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน (exclusion list) และนโยบายด้านอื่นๆ อย่างเพียงพอและทันท่วงที เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของธนาคารในการรับมือกับความเสี่ยงด้าน ESG ซึ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน สุขภาพ รวมถึงประเด็นท้าทายใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) และระบบการเงินไร้ตัวกลาง (DeFi)