เชิดศักดิ์ หิรัญสิริสมบัติ: ถอดรื้อ พ.ร.บ.ล้มละลาย ก้าวพ้นวังวนหนี้

16 มีนาคม 2565

พ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับแรกเมื่อปี 2483 ประกาศใช้มานานกว่า 80 ปี แม้จะมีการแก้ไขปรับปรุงมาโดยตลอด แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน บริบทสังคมเปลี่ยนแปรไป จึงจำเป็นต้องกลับมาทบทวนกันอีกครั้งเพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม 

หลังประเทศไทยประสบวิกฤตการณ์ ‘ต้มยำกุ้ง’ เมื่อช่วงปี 2540 ภาคธุรกิจทั้งหลายไม่ว่าจะรายใหญ่และรายเล็กต่างเผชิญปัญหาทางการเงิน ทำให้รัฐต้องมีการปรับปรุงกฎหมายล้มละลายเพื่อโอบอุ้มธุรกิจเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่เป็นเฟืองจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเปิดโอกาสให้สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายได้

จนมาถึงยุคปัจจุบัน เมื่อเศรษฐกิจของประเทศไทยถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ผู้ประกอบการไทยล้วนได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้า หลายรายต้องปิดกิจการ บ้างลดพนักงาน ลดเงินเดือน หรือกระทั่งเลิกจ้าง ส่งผลไปถึงลูกจ้างแรงงานที่ต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หลายคนรายได้หดหาย แต่รายจ่ายยิ่งพอกพูน จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสิน และสุดท้ายก็เข้าสู่วังวนหนี้อย่างไม่อาจหลุดพ้น

ทว่ากฎหมายล้มละลายฉบับปัจจุบันกลับยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ และมีข้อจำกัดที่ทำให้ลูกหนี้บุคคลธรรมดาไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการฟื้นฟูหนี้สินได้เช่นเดียวกับธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ทำให้เกิดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมทางกฎหมาย

เชิดศักดิ์ หิรัญสิริสมบัติ รองอัยการสูงสุด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายล้มละลายของไทยและต่างประเทศ พบประเด็นสำคัญว่า พ.ร.บ.ล้มละลาย มีข้อจำกัดที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปรับปรุงครั้งใหญ่ 

เหตุผลของการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย ไม่เพียงต้องการให้ความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้รายย่อยหรือบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ด้วยเช่นกัน 

นั่นหมายความว่า หากกฎหมายล้มละลายได้รับการพิจารณาแก้ไข จะยังประโยชน์ให้แก่ผู้คนในสังคมโดยรวม บทสัมภาษณ์ถัดจากนี้มีหลายเหตุผลที่ทุกฝ่ายพึงรับฟัง

จุดเริ่มต้นของ พ.ร.บ.ล้มละลาย ประเทศไทยมีแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายนี้อย่างไร

พ.ร.บ.ล้มละลาย เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจะแก้ปัญหาในกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้กับเจ้าหนี้หลายราย โดยปกติแล้วเมื่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้จะแบ่งได้เป็น 2 ระดับ ระดับแรกคือ ลูกหนี้เป็นหนี้กับเจ้าหนี้ 1 ราย แต่ไม่เกิน 2 ราย การแก้ไขปัญหาจะใช้การดำเนินคดีทางแพ่ง ระดับที่สองคือ กรณีที่ลูกหนี้เป็นหนี้กับเจ้าหนี้หลายรายและหลายแหล่ง ตัวอย่างเช่น มีการจำนองบ้านและที่ดินกับสถาบันการเงิน และอาจมีหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์อยู่ด้วย หรืออาจมีหนี้จากการกู้เงินกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น

จะเห็นว่าเมื่อลูกหนี้เป็นหนี้กับเจ้าหนี้หลายรายและหลายแหล่ง ทำให้ลูกหนี้อยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้นการจะแก้ปัญหาหนี้สินกับเจ้าหนี้ทุกรายพร้อมๆ กันด้วยการฟ้องร้องทางแพ่งจึงเป็นเรื่องยาก เพราะในทางแพ่งจะออกแบบมาให้ฟ้องคดีแยกเป็นหลายเรื่อง หากเจ้าหนี้แต่ละรายต่างก็ฟ้องยึดทรัพย์เพื่อบังคับคดี ถ้าใครยึดทรัพย์อะไรได้ก่อน เจ้าหนี้รายอื่นก็จะยึดทรัพย์นั้นด้วยไม่ได้ ทำได้เพียงเฉลี่ยหนี้ ประเด็นนี้จึงทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับเจ้าหนี้ได้ เพราะเจ้าหนี้แต่ละรายต่างก็ไม่รู้ว่ามีใครฟ้องคดีไปก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ มารู้อีกทีคือทรัพย์สินลูกหนี้ไม่มีเหลือแล้ว 

ฉะนั้น ในกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้สินกับเจ้าหนี้หลายรายและหลายแหล่ง การจะทำให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน จึงต้องใช้กระบวนการในการจัดการแก้ไขหนี้สินระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้แบบเบ็ดเสร็จในคราวเดียวกัน กระบวนการนี้จึงถูกออกแบบขึ้นมาเป็นกฎหมายล้มละลาย

เมื่อกล่าวถึงกฎหมายล้มละลายแล้ว เดิมทีก็เป็นการจัดการหนี้สินเพื่อที่จะปิดกิจการลูกหนี้ หมายความว่าลูกหนี้อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถจะชำระหนี้ได้อีกแล้ว และไม่สามารถผัดผ่อนต่อไปได้ จึงต้องมีการนำทรัพย์สินของลูกหนี้มารวมกันแล้วแบ่งสรรให้กับเจ้าหนี้อย่างเป็นธรรม นี่คือกระบวนการในกฎหมายล้มละลาย 

ในวิวัฒนาการต่อมาเราพบว่า สำหรับกิจการขนาดใหญ่ๆ ถ้าปล่อยให้ล้มละลายไป สิ่งที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้ ตัวอย่างเช่น ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง กิจการจำนวนมากล้มละลาย โดยที่ไทยยังไม่ออกกฎหมายฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ ทำให้เกิดวิกฤตทางการเงินขนาดใหญ่ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนัก ต้องไปขอความช่วยเหลือจาก IMF (International Monetary Fund - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ซึ่งทาง IMF ให้ข้อเสนอแนะว่า ประเทศไทยควรมีกระบวนการฟื้นฟูกิจการซึ่งช่วยลดความรุนแรงของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ ส่งผลให้ต่อมามีการออกกฎหมายฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ซึ่งพ่วงเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายล้มละลายเมื่อปี 2542 โดยมีการตั้งศาลล้มละลายกลางขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับคดีล้มละลายโดยเฉพาะ และมีบทบาทสำคัญในกระบวนการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้

ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง กฎหมายฟื้นฟูกิจการสามารถช่วยธุรกิจขนาดใหญ่ได้จำนวนมาก ทั้งบริษัทจำกัดหรือมหาชนจำกัดที่มีหนี้ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป อย่างเคสใหญ่ที่ได้ยินกันมาก คือ TPI ที่มีการฟ้องร้องกันหลายคดี แต่ในที่สุด TPI ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จภายในไม่เกิน 3-4 ปี และกลับมาแข็งแกร่งได้ แสดงให้เห็นว่าการฟื้นฟูกิจการนั้นเป็นประโยชน์มาก ทำให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้ 

หลักของการฟื้นฟูกิจการคือ ทำให้ลูกหนี้สามารถที่จะรักษากิจการของตัวเองไว้ได้ ในขณะเดียวกันก็แก้ไขเยียวยาภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของกิจการนั้นให้ดำเนินต่อได้ ลูกหนี้สามารถรักษาทรัพย์สินตัวเองไว้ได้ เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้แทนการฟ้องลูกหนี้ล้มละลาย จะเห็นว่าข้อดีของการฟื้นฟูกิจการคือ การทำให้ลูกหนี้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยปราศจากหนี้และเข้มแข็งขึ้น

แม้ตัวกฎหมายจะมีข้อดีอยู่หลายประการ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ด้วยใช่ไหม

ข้อจำกัดของกฎหมายล้มละลายในประเทศไทยคือ จะเปิดโอกาสให้มีการฟื้นฟูกิจการเฉพาะกรณีบริษัทจำกัดหรือมหาชนจำกัดเท่านั้น ซึ่งถ้าเทียบกับกฎหมายในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาจะมีมาตรการฟื้นฟูให้กับกิจการหลากหลายประเภท ทั้งกิจการขนาดเล็ก ห้างหุ้นส่วน รวมถึงสหกรณ์การเกษตร แต่ประเทศไทยจะเน้นไปที่ธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก 

ต่อมา ช่วงปี 2561 รัฐบาลได้เล็งเห็นว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไปต่อได้ จึงมีการแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย โดยเพิ่มการฟื้นฟูกิจการ SMEs เข้าไปด้วย ถึงกระนั้นในกระบวนการฟื้นฟูกิจการของธุรกิจขนาดเล็กก็ยังคงมีข้อจำกัดอยู่ 2 ข้อ

ประการแรกคือ การทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งขั้นตอนนี้จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญพิเศษ หากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำลังทรัพย์ย่อมสามารถจ้างที่ปรึกษาที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นผู้จัดทำแผนให้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นที่ปรึกษาจากต่างประเทศ 

ประการที่สอง ลูกหนี้ต้องมีความสามารถที่จะเจรจากับเจ้าหนี้ได้ ซึ่งลูกหนี้ที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่มีทักษะในการเข้าถึงเจ้าหนี้อยู่แล้ว จึงสามารถดำเนินการเองได้ แต่หากเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ข้อจำกัด 2 ประการนี้ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ 

ธุรกิจขนาดกลางและเล็กอย่าง SMEs อาจไม่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะจ้างที่ปรึกษาทำแผนฟื้นฟูกิจการ อีกทั้ง SMEs ส่วนใหญ่ยังทำงานในรูปแบบครอบครัวหรือเป็นกลุ่มก้อนที่ไม่เป็นทางการ ไม่มีระบบบัญชี ระบบการตลาด และการบริหารที่เป็นระบบระเบียบ เพราะฉะนั้นจึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์และทำแผนฟื้นฟูได้ยาก 

ที่ผ่านมาเราพบว่า ผู้ที่มีทักษะหรือความเชี่ยวชาญในการวางแผนฟื้นฟูกิจการหรือวิเคราะห์หนี้สินทางธุรกิจนั้นมีน้อยมากในประเทศไทย เพราะเป็นเรื่องใหม่ คนไทยจึงยังไม่ค่อยเข้าใจว่า การฟื้นฟูหนี้สินคืออะไร 

นอกจากข้อจำกัดของลูกหนี้ SMEs แล้ว สำหรับลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดายังมีอุปสรรคอะไรบ้าง

ปัจจุบันปัญหาเร่งด่วนเรื่องหนี้สินก็คือ หนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่งต้องยอมรับก่อนว่าเป็นประเด็นที่สำคัญ ตอนนี้อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3 ของปี 2564 ไต่ระดับสูงถึง 89.3 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP และที่สำคัญคือ ครัวเรือนที่มีหนี้มากกว่า 5 บัญชี หรือ 5 แหล่งหนี้ มีมากกว่าร้อยละ 50 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด นั่นแปลว่า การที่จะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งหมดได้นั้นจะต้องเผชิญความยากลำบากในการเจรจากับเจ้าหนี้ซึ่งมีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้กลุ่มที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้าน กองทุนชุมชน รวมถึงเจ้าหนี้นอกระบบ และหนี้ส่วนบุคคลอย่างหนี้บัตรเครดิต 

ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าลูกหนี้ 1 ราย มีหนี้กับเจ้าหนี้หลายรายและหลายแหล่ง ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทุกแหล่งพร้อมๆ กัน เมื่อไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ ลูกหนี้จึงใช้วิธีหมุนหนี้ คือชำระให้รายที่หนึ่งก่อน โดยไปกู้รายที่สองมาใช้หนี้ให้รายที่หนึ่ง จากนั้นเมื่อรายที่สองทวงหนี้ ก็ไปกู้รายที่สามมาใช้หนี้ให้รายที่สอง แล้วก็วนไปแบบนี้ จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘วังวนแห่งหนี้’ ซึ่งในที่สุดก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้ครบ และยอดหนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่สามารถหยุดวงจรหนี้ได้ จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวและถูกฟ้องบังคับคดี 

แม้รัฐจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ แต่ก็เป็นการแก้ไขในบางส่วน เช่น มาตรการของธนาคารพาณิชย์ก็ใช้ได้เฉพาะลูกหนี้ของสถาบันการเงินประเภทธนาคาร แต่สถาบันการเงินประเภทอื่นเช่น สหกรณ์ ก็ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือทำนองเดียวกับธนาคารพาณิชย์ จะเห็นว่าเมื่อมาตรการช่วยเหลือมีแค่ขาเดียว วิธีที่ดีที่สุดสำหรับลูกหนี้คือ ต้องหากระบวนการที่จะจัดการหนี้สินกับเจ้าหนี้ซึ่งมีความหลากหลายได้ในคราวเดียว เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้กับเจ้าหนี้ทุกรายได้อย่างเป็นธรรม

ดังนั้น ถ้าเจ้าหนี้รายใดยื่นฟ้องลูกหนี้ก่อน ก็จะไม่เหลือทรัพย์สินบังคับคดีสำหรับเจ้าหนี้รายหลัง ทำให้ฝ่ายเจ้าหนี้เองก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม และหากมีการบังคับคดีแล้ว จะพบว่าร้อยละ 54 ของการนำสินทรัพย์มาขายทอดตลาดจะได้ราคาน้อยกว่าราคาประมูล นั่นก็หมายความว่า ลูกหนี้ที่ถูกบังคับคดีให้เอาทรัพย์สินขายทอดตลาด สินทรัพย์นั้นมีมูลค่าไม่เท่ากับจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ยื่นฟ้อง เพราะฉะนั้นกระบวนการที่ผ่านมาจึงแก้ปัญหาตรงนี้ไม่ได้ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ 

สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ แม้กฎหมายจะเปิดทางให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ แต่ด้วยข้อจำกัด 2 ประการ คือ ลูกหนี้ไม่มีความสามารถในการทำแผนฟื้นฟู และไม่มีความสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งโดยสถิติแทบจะเรียกได้ว่า นับตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมาย ยังไม่มีธุรกิจ SMEs รายใดเลยที่ได้รับประโยชน์จากช่องทางการฟื้นฟูกิจการ ส่วนบุคคลธรรมดาไม่ต้องพูดถึง เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ ฉะนั้นจึงมีความเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขกฎหมายตรงจุดนี้

ในต่างประเทศมีแนวทางการแก้ไขกฎหมายอย่างไรบ้างที่จะนำมาเป็นกรณีศึกษาได้

เมื่อปี 2555 ผมได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับแนวทางกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยการฟื้นฟูหนี้บุคคลธรรมดา ซึ่งเหมาะสมกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนหรือหนี้บุคคลธรรมดาของไทยอย่างมาก โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มาจากหลายแหล่งให้เสร็จได้ในคราวเดียว และทำให้ลูกหนี้สามารถรักษาทรัพย์สินตัวเองไว้ได้ นี่คือสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้

แต่อย่างที่ผมเรียนให้ทราบ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ไม่ว่าจะเอากฎหมายฟื้นฟูหนี้บุคคลธรรมดาหรือธุรกิจขนาดเล็กมาใช้ ก็ยังมีข้อจำกัดเช่นเดิมคือ ลูกหนี้ต้องสามารถทำแผนฟื้นฟูกิจการเองได้ และต้องมีทักษะในการเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งโดยหลักแล้วการเจรจากับเจ้าหนี้จะสำเร็จได้ต้องมีคนกลางจะทำให้การเจรจานั้นเป็นไปได้มากขึ้น โดยกฎหมายกำหนดให้คนกลางคือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในที่ประชุม เพราะการให้เจ้าหนี้กับลูกหนี้เจรจากันเองเป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก เพราะเจ้าหนี้ย่อมมีอิทธิพลต่อลูกหนี้มากกว่า และยิ่งมีเจ้าหนี้หลายรายและหลายแหล่ง การจะให้เจ้าหนี้ลงมติยอมรับร่วมกันยิ่งเป็นเรื่องยากมาก 

ในกระบวนการฟื้นฟูหนี้สินที่ผมได้ศึกษามานั้น จะมีวิธีการลงคะแนนโดยใช้หลักเสียงข้างมาก จำนวนหนี้ข้างมาก นั่นหมายความว่าไม่จำเป็นที่เจ้าหนี้ทุกรายจะต้องเห็นชอบร่วมกันเสมอไป ถ้าเจ้าหนี้รายใหญ่มีหนี้จำนวนมากสุดในหนี้ทั้งหมด เห็นชอบให้แผนฟื้นฟูผ่าน แผนนั้นก็จะผ่านได้ แต่ในกฎหมายของไทยว่าด้วย SMEs กำหนดให้ลูกหนี้ไปคุยกับเจ้าหนี้เองโดยไม่มีกลไกกลางก็จะทำได้ยาก นี่จึงเป็นประเด็นที่เราจำเป็นต้องแก้กฎหมายตรงนี้ 

ในปัจจุบันกระทรวงยุติธรรมเองก็เริ่มมองเห็นประเด็นดังกล่าวแล้ว จึงออกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย เพื่อจะปรับปรุงกระบวนการฟื้นฟูกิจการสำหรับ SMEs ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี

ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย ยังมีประเด็นใดอีกบ้างที่ควรจะพัฒนาต่อไปได้อีก นอกจากข้อจำกัดทั้ง 2 ข้อที่ได้กล่าวไป

ในกฎหมายฉบับใหม่พยายามจะแก้ไขข้อจำกัดของธุรกิจ SMEs คือ ให้ลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูต่อศาลได้ เมื่อศาลอนุญาตแล้ว ลูกหนี้มีเวลา 3 เดือน นับจากที่ศาลมีคำสั่งให้ไปทำแผนฟื้นฟูและประชุมเจ้าหนี้ให้เสร็จ ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ข้อจำกัดเหล่านี้ก็ยังคงเป็นปัญหากับลูกหนี้ เพราะถึงอย่างไรลูกหนี้ก็ยังต้องไปทำแผนฟื้นฟูและประชุมเจ้าหนี้เอง ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ากฎหมายใหม่ยังไม่ตอบโจทย์ข้อจำกัดนี้ เพราะฉะนั้นถึงแม้กฎหมายจะมีผลใช้บังคับก็คงจะทำได้เฉพาะธุรกิจที่ค่อนข้างมีขนาดใหญ่ มีระบบการจัดการที่ดี และมีทุนทรัพย์ แต่ถ้าเป็นกรณีรายเล็กๆ คิดว่าคงยาก 

นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ควรมุ่งเน้นประเด็นการขยายขอบเขตของการฟื้นฟูหนี้สินให้กว้างขึ้น นอกเหนือจากบริษัทจำกัดหรือมหาชนจำกัด แต่เป็นกิจการอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น SMEs อาจจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ ซึ่งลูกหนี้ที่จะเข้าสู่การฟื้นฟูหนี้สินได้ก็ต้องเป็นลูกหนี้ที่เปิดกิจการ อาจจะเป็นเจ้าของคนเดียว หรือเป็นคณะบุคคลเหมือนอย่างของกรณีวิสาหกิจชุมชน ห้างหุ้นส่วน ก็สามารถทำได้

ทราบว่าในร่างกฎหมายฉบับใหม่ ยังมีมาตรการพักชำระหนี้ระหว่างกระบวนการฟื้นฟูหนี้ด้วยใช่ไหม

จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ ก็คือมาตรการคุ้มครองลูกหนี้ทั้งก่อนและหลังกระบวนการฟื้นฟู อันนี้ก็เป็นข้อดีอีกประการหนึ่งของกฎหมายนี้ ซึ่งจะมีการคุ้มครองทรัพย์สินของลูกหนี้ในหลายเรื่อง เช่น การห้ามฟ้องคดี การห้ามบังคับคดี การห้ามยึดทรัพย์สินในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดในสัญญาเช่าซื้อ และการห้ามบังคับจำนอง

ร่างกฎหมายใหม่มีข้อดีตรงที่ว่า ก่อนยื่นขอฟื้นฟูต่อศาล ลูกหนี้สามารถยื่นขอคุ้มครองไว้ก่อนได้ คือตามหลักการในกฎหมายปัจจุบัน automatic stay จะเกิดขึ้นต่อเมื่อยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลและศาลรับคำร้อง แต่กรณีนี้ถึงแม้จะยังไม่ยื่นขอฟื้นฟู ก็สามารถยื่นคำร้อง automatic stay ได้ก่อน อันนี้ก็เป็นข้อดีที่ทำให้ลูกหนี้ได้รับการคุ้มครอง 

ข้อดีอีกประการคือ มีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการฟื้นฟูหนี้สินแบบเร่งรัด หมายความว่าในกรณีที่ลูกหนี้สามารถทำแผนฟื้นฟูเอง และมีการประชุมเจ้าหนี้สำเร็จ ก็สามารถยื่นขอฟื้นฟูแบบเร่งรัดต่อศาลได้ โดยศาลจะพิจารณาแผนแล้วเห็นชอบได้เลย ก็จะช่วยให้การดำเนินการรวดเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนยังไม่ถูกให้ความสำคัญมากนัก เพราะฉะนั้นในร่างแก้ไขกฎหมายก็ควรจะตอบโจทย์ที่จะทำให้บุคคลธรรมดาสามารถเข้าถึงกระบวนการตามกฎหมายได้ ผมมองว่าสิ่งที่ต้องมีหรือต้องแก้ไขใหม่ก็คือ สำหรับลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาอาจจะต้องมีกฎหมายอื่นประกอบคือ การฟื้นฟูหนี้สินที่ไม่ได้เป็นการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ 

อาจต้องตราเป็นกฎหมายขึ้นมาอีกฉบับไหม หรือจะเป็นส่วนหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้บุคคลธรรมดา

ในการดำเนินการก็อาจทำได้ทั้งสองทาง เนื่องจากร่างกฎหมายนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จ โดยร่างกฎหมายนี้มีการเพิ่มเติมเฉพาะการฟื้นฟูกิจการขนาดเล็ก แต่ถ้าจะเพิ่มเติมการฟื้นฟูหนี้สินของบุคคลธรรมดาเข้าไปอีกหมวดก็อาจทำได้ ที่จริงเราเคยคุยกันแล้วว่า ได้ศึกษาและลองทำร่างตัวอย่างมาแล้ว ซึ่งในร่างตัวอย่างที่ผมทำก็สามารถที่จะรวมกฎหมายตรงนี้ได้ แต่ถ้าไม่รวมก็อาจจะต้องมีร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาอีก เพื่อเพิ่มเติมในส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูหนี้สินส่วนบุคคล โดยหลักการสำคัญในร่างที่ผมเสนอคือ ต้องแก้ข้อจำกัดในกระบวนการฟื้นฟู 2 ข้อ คือ 1) การทำแผนฟื้นฟู และ 2) การประชุมเจ้าหนี้เพื่อยอมรับแผนร่วมกัน

ตามหลักการที่ผมเสนอคือ จะต้องมีเจ้าพนักงานเข้ามาเป็นผู้ช่วย เพื่อให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้สินได้ เช่น เข้ามาช่วยเรื่องการทำแผนฟื้นฟู ตลอดจนเป็นคนกลางที่จะประสานการประชุมระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ เพื่อให้มีมติยอมรับแผนได้ ซึ่งเรามองว่ามีหลายหน่วยงานที่มีความพร้อมจะดำเนินการตรงนี้ได้ ถ้าหากว่ามีการเตรียมแผนที่ดี เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ของกระทรวงยุติธรรม ธนาคารแห่งประเทศไทย องค์กรหรือมูลนิธิต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้ามาแก้ไขตรงนี้ ซึ่งผมมองว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถร่วมมือกันสร้างกลุ่มเจ้าหน้าที่เหล่านี้ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในการวิเคราะห์แผนฟื้นฟูนี้ได้ 

ในสหรัฐอเมริกาเอง การที่คนกลางจะยื่นขอฟื้นฟูหนี้ต่อศาลได้ จะต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานอัยการก่อน เพื่อให้บุคลากรในองค์กรเหล่านี้สามารถเป็นที่ปรึกษาแก่ลูกหนี้ได้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ให้ลูกหนี้ไปยื่นคำร้องขอฟื้นฟูเอง แต่ควรมีองค์กรกลางเข้ามาช่วยตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ ก่อนที่จะยื่นคำร้องต่อศาล

จะเห็นว่าการตั้งเจ้าพนักงานขึ้นมาเป็นคนกลางช่วยเหลือลูกหนี้ เป็นกลไกสำคัญที่ต่างประเทศออกแบบมาเพื่อแก้ไขข้อจำกัดในการฟื้นฟูหนี้สิน ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้มองถึงข้อจำกัดในการปรับใช้กฎหมายกับลูกหนี้ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา เพราะฉะนั้นในร่างกฎหมายฟื้นฟูหนี้สินจึงควรมีกลไกที่ให้เจ้าพนักงานเหล่านี้เป็นผู้ช่วยในการยื่นคำร้องแทนลูกหนี้ได้ นี่คือหัวใจของกระบวนการฟื้นฟูหนี้

 

รูปธรรมขององค์กรกลางนี้ควรเป็นอย่างไร ควรได้รับการรับรองตามกฎหมายด้วยหรือไม่ และต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างไรสำหรับลูกหนี้

รายละเอียดอาจต้องว่ากันในภายหลัง อย่างที่ผมพยายามร่างไว้คือ ควรเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ทางกฎหมายอยู่แล้ว อาจเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย มูลนิธิ หรือสมาคมต่างๆ ส่วนค่าธรรมเนียมจะเก็บอย่างไรค่อยว่ากันในรายละเอียด ในต่างประเทศมีการออกแบบให้เป็นหน้าที่ของสมาคมหรือมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร อาจจะมีค่าใช้จ่ายบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ควรนำมาเป็นรายได้หลัก แล้วอาจต้องมีเรื่องของการจดทะเบียนตามกฎหมายบังคับคดี เป็นต้น

อีกเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหม่และอยากจะนำเสนอก็คือ เมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้บุคคลธรรมดาแล้ว หากลูกหนี้เสียชีวิตในระหว่างที่แผนฟื้นฟูยังไม่สำเร็จจะทำอย่างไร จะเห็นว่าในร่างแก้ไขกฎหมายยังไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้ แต่ในร่างที่ผมทำไว้ได้เสนอประเด็นนี้ด้วยว่าควรจะแก้ไขอย่างไร เช่น ต้องให้ทายาทเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ทำแผนต่อจากลูกหนี้ ซึ่งในกฎหมายต่างประเทศมีมาตราหนึ่งที่น่าเอามาปรับใช้คือ การปลดลูกหนี้จากภาวะยากลำบาก เช่น กรณีลูกหนี้ทุพพลภาพ ไม่สามารถประกอบกิจการหรือทำอาชีพได้ หรือไม่มีทายาทที่จะทำตามแผนฟื้นฟูหนี้ได้ กรณีนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอปลดภาระจากการทำแผนฟื้นฟูได้ ซึ่งศาลจะต้องพิจารณาตรวจสอบอย่างเข้มงวดก่อนที่จะปลดลูกหนี้จากภาวะล้มละลาย 

นอกจากการขยายขอบเขตกฎหมายไปถึงบุคคลธรรมดาแล้ว ควรจะรวมถึงลูกหนี้นอกระบบด้วยไหม

กฎหมายล้มละลายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการควรจะต้องมีทั้งหมดอย่างน้อย 4 หมวด คือ ฟื้นฟูกิจการขนาดใหญ่ ฟื้นฟูกิจการขนาดย่อม ฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัด และสุดท้ายคือฟื้นฟูหนี้สำหรับบุคคลธรรมดา เพื่อให้ครอบคลุมในทุกมิติ

หากมีกฎหมายฟื้นฟูหนี้บุคคลธรรมดาจะช่วยให้การเจรจาหนี้กับเจ้าหนี้หลายแหล่งทำได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าหนี้นั้นจะมาจากแหล่งไหนก็ตาม โดยหลักการคือการจัดกลุ่มหนี้แต่ละประเภทภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำลังความสามารถ และให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แทนที่จะให้เจ้าหนี้ฟ้องล้มละลายแล้วเอาสินทรัพย์ไปแบ่งกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเจ้าหนี้รายใหญ่ก็มักจะได้ไปเกือบหมด ส่วนเจ้าหนี้รายเล็กอาจไม่ได้รับการชำระหนี้ แต่หากมีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ในแผนฟื้นฟู เจ้าหนี้ทุกรายก็อาจได้รับการชำระหนี้เกือบเต็มจำนวน เพียงแต่ต้องให้โอกาสลูกหนี้ในการชำระหนี้สลับกัน หรือยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป 

มีสถิติไหมว่า เมื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูหนี้สินแล้ว โดยเฉลี่ยจะใช้เวลากี่ปี

โดยหลักการแล้ว การบริหารฟื้นฟูหนี้ตามที่กฎหมายออกแบบไว้ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือต่างประเทศ จะไม่เกิน 5 ปี เว้นแต่มีกรณีพิเศษ อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็มีการยืดหยุ่นได้ หากภายใน 5 ปี ยังบริหารแผนฟื้นฟูไม่สำเร็จ ก็สามารถขอยืดระยะเวลาจากศาลได้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหนี้มากกว่าการฟ้องล้มละลาย 

อยากทราบว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันมีความน่าเป็นห่วงอย่างไรบ้าง และมีแนวโน้มอย่างไรในช่วงวิกฤติโควิดนี้

เรื่องหนี้ครัวเรือน ถ้ามองย้อนไป 10 ปีที่ผ่านมา มันมีการเพิ่มขึ้นตามฐานรายได้ เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น รายจ่ายก็เพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มของค่าใช้จ่ายก็เริ่มมีภาวะแทรกซ้อนขึ้นมา 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ตั้งแต่มีกระแส ‘digital disruption’ เราจะพบว่าผลของเทคโนโลยีดิจิทัลมีผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่าย ในโซเชียลมีเดียทั้งหลายมักจะมีการโพสต์ว่าไปชิมกาแฟร้านนั้นร้านนี้ แล้วก็ไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งเป็นลักษณะของ e-Commerce เพราะฉะนั้นจึงเกิดพฤติกรรมการใช้จ่ายในส่วนที่เป็นค่าอุปโภคบริโภคที่ไม่ใช่ปัจจัยสี่ เช่น ค่าใช้จ่ายเรื่องการท่องเที่ยว ค่าอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ที่สูงขึ้น 

สังเกตได้ว่าคนมีพฤติกรรมในการใช้จ่ายระยะสั้นเพิ่มขึ้นมาก แต่ถ้าเป็นรายจ่ายที่เป็นหนี้ระยะยาว เช่น ค่าบ้าน ผ่อนรถ ตรงนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะหากผ่อนชำระจบก็จะกลายเป็นสินทรัพย์กลับมา ตรงกันข้ามกับค่าอุปโภคบริโภค เช่น ค่าท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายระยะสั้น มีงานวิจัยพบว่าพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเห็นว่าหนี้จากบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นมาในอัตราที่สูงมาก

นอกจากพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างที่กล่าวไปแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องโควิด-19 ที่ยิ่งทำให้รายได้ลดลง ทั้งที่รายจ่ายก็สูงอยู่แล้ว ต้องมาซ้ำเติมด้วยรายได้ที่ลดลง ทำให้ส่วนต่างของกระแสเงินสดในครัวเรือนยิ่งน้อยลงไปอีก หลายรายถึงขั้นต้องยุติกิจการหลังมีมาตรการล็อคดาวน์ ถึงแม้ไม่ถูกควบคุมก็เหมือนควบคุม ทำให้รายได้ลดลง แต่รายจ่ายไม่ได้ลดเลย มาตรการชะลอหนี้ต่างๆ ก็ช่วยลดรายจ่ายลงไปได้บ้างเพียงชั่วคราว เพราะเป็นแค่การพักชำระหนี้ ยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป แต่ไม่ได้แปลว่าหนี้จะหายไป ค่าใช้จ่ายก็ยังเท่าเดิม ไม่ได้หายไป แต่รายได้ต่างหากที่เห็นชัดๆ ว่าหายไป จากพฤติกรรมการใช้จ่ายและภาวะโควิด สถานการณ์แบบนี้ทำให้ลำบาก

เราพบว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสเงินสดหรือส่วนต่างระหว่างรายได้กับรายจ่าย โดยค่าเฉลี่ยของครัวเรือนจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท หมายความว่ารายได้มากกว่ารายจ่าย 5,000 บาท ถ้ามีหนี้สินมากกว่า 5,000 ก็คือไม่พอชำระหนี้ ปัจจุบันครัวเรือนเป็นหนี้เฉลี่ยประมาณ 200,000 บาท และจะวิกฤติไปเรื่อยๆ ถ้าหากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ มาตรการที่ออกมามากมายก็เป็นแค่มาตรการระยะสั้น ที่สำคัญคือมันแก้ไขได้เฉพาะหนี้บางกลุ่ม เช่น หนี้สถาบันการเงิน แต่หนี้ครัวเรือนไม่ได้มาจากแหล่งเดียว ยังมีหนี้ที่มิใช่สถาบันการเงิน (non-bank) อีกมากมาย เพราะฉะนั้นการแก้หนี้ครัวเรือนจึงต้องการมาตรการที่สามารถแก้ไขหนี้ทุกประเภทได้ในคราวเดียว นั่นคือการฟื้นฟูหนี้ของบุคคลธรรมดา 

มีข้อกังวลอยู่ว่า ถ้ามีกฎหมายล้มละลายสำหรับบุคคลธรรมดา จะทำให้เกิดผลเสียต่อวินัยทางการเงิน หรือทำให้เกิดหนี้เสียมากขึ้น? 

ข้อกังวลที่ว่า ถ้ามีกฎหมายฟื้นฟูหนี้สินที่เปิดกว้างขึ้นแล้วจะทำให้การปล่อยสินเชื่อมีปัญหาหรือทำให้ลูกหนี้เสียนิสัยมากขึ้นไหม ผมต้องขอเรียนว่า ความเป็นห่วงตรงนี้เป็นแค่ความกังวล เพราะนับตั้งแต่เรามีกฎหมายฟื้นฟูกิจการตั้งแต่ปี 2542 จนตอนนี้กว่า 20 ปีแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าธุรกิจเหล่านั้นจะเป็นหนี้เสีย และยังคงดำเนินกิจการเรื่อยมา เรียกได้ว่าหลังจากปี 2542 เป็นต้นมา แทบจะไม่มีธุรกิจใดมาขอใช้กฎหมายฟื้นฟู หรือมีน้อยมาก เพราะทุกคนรู้ว่าการใช้กฎหมายฟื้นฟูต้องใช้เท่าที่จำเป็น 

อีกประการหนึ่ง ถ้าเป็นการรวมหนี้สินก็มีข้อดีอยู่หนึ่งประการ เนื่องจากมีข้อกำหนดไว้ว่า ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้จะก่อหนี้ใหม่อีกไม่ได้ แล้วต้องทำตามแผนฟื้นฟู ถ้าทำไม่ได้ก็จะยกเลิก จุดนี้เองที่เป็นการสร้างวินัยให้กับลูกหนี้ในการที่คุณจะต้องบริหารแผนฟื้นฟูให้สำเร็จ ได้มาเท่าไหร่คุณก็ต้องรู้ว่าจะเหลือเท่าไหร่ ต้องชำระหนี้ให้ใครบ้างตามแผนฟื้นฟู ตรงนี้เองที่ทำให้ลูกหนี้มีวินัยเพิ่มขึ้น เรียกได้ว่าแผนฟื้นฟูเป็นตัวสร้างวินัยไปในตัว

จากข้อสังเกตที่ว่า ในเมื่อพฤติกรรมของลูกหนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดหนี้สิน เราจะให้ความรู้ในเรื่องนี้อย่างไร 

ความรู้น่ะให้ได้ แต่เรียนไปแล้วจะเอาไปใช้ไปปฏิบัติหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หลายแห่งเขาใช้วิธีให้ความรู้เด็กเล็กในเรื่องการใช้เงิน เช่น ของนี้ราคาเท่าไหร่ ซื้อมาแล้วคุ้มไหม มันถูกหรือแพงแค่ไหน เขาสอนให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้ว่า การเทียบราคาคืออะไร พอโตขึ้นมาก็จะสอนเรื่องวินัย พอถึงระดับมหาวิทยาลัยก็สอนเรื่องการวางแผนชีวิตในด้านการเงิน แต่ทุกวันนี้เราสอนแค่เรื่องอาชีพ เราไม่ได้สอนวิธีใช้ชีวิต 

หากมองภาพใหญ่ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย นอกจากให้ประโยชน์ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้แล้ว จะช่วยสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นไหม

ขอเรียนอย่างนี้ว่า ในเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยถ้วนหน้าแล้ว เราจำเป็นจะต้องมีกลไกการฟื้นฟูหนี้สิน ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ไปจนถึงบุคคลธรรมดา เพราะฉะนั้นกฎหมายล้มละลายจึงต้องครอบคลุมคนทุกกลุ่ม การที่เราตั้งเป้าว่าจะออกจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องมือสำคัญก็คือการกระจายรายได้

ทีนี้การกระจายรายได้ของเรามีปัญหาเสมอ รายได้ระหว่างคนที่มีรายได้สูงกับคนที่มีรายได้น้อยมันต่างกันหลายสิบเท่า ถ้าเช่นนั้นวิธีที่จะลดช่องว่างการกระจายรายได้ก็คือ ต้องทำให้คนที่มีรายได้น้อยหรือปานกลางขยับตัวขึ้นมา ถ้าหากกฎหมายเกี่ยวกับ SMEs ถูกแก้ไขโดยลดข้อจำกัดลง ทำให้ SMEs สามารถคุมต้นทุนการผลิตได้ ตัวช่องว่างรายได้ก็จะหดแคบลง หากรัฐบาลมองเห็นประเด็นนี้ ก็ต้องออกกฎหมายที่จะฟื้นฟูกิจการ SMEs และหากลไกเข้ามาช่วยเหลือ 

มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จะได้รับการพิจารณา

ตอนนี้เราก็พยายามผลักดันกันเต็มที่ เพื่อให้เข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐบาล และต้องช่วยกันส่งเสียงไปยังรัฐบาลว่า จำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมในกฎหมายฉบับนี้

เราจะสามารถเปลี่ยนหลักคิดในการจัดการหนี้ที่เป็นธรรมได้อย่างไร จากเดิมที่ใช้วิธีการลงโทษหรือฟ้องร้อง เปลี่ยนเป็นการให้อภัยและให้โอกาส

เวลาเรามองวิธีแก้ปัญหาระหว่างลูกหนี้กับสถาบันการเงิน เราควรมองในลักษณะที่เป็นความร่วมมือระหว่างกัน ที่ผ่านมาถ้าเป็นลูกหนี้รายใหญ่ ธนาคารก็มักจะต้องเกรงใจ เพราะถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ไม่อาจละเลยได้ ถ้าลูกค้าเป็นอะไรไป ธนาคารก็จะเดือดร้อนไปด้วย แต่พอเป็นบุคคลธรรมดา หากไม่ชำระหนี้ตามกำหนดก็จะมีการลงโทษ ต้องบังคับเอาให้ได้ โดยลืมไปว่าการที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ในขณะนั้นอาจเป็นเพราะเจ้าหนี้ไม่คำนึงถึงเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และธนาคารเองก็มีส่วนปล่อยปละละเลยเช่นกัน

วันนี้ถึงจุดวิกฤติตรงที่ว่า ภาพรวมของหนี้บุคคลธรรมดาเริ่มมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เพราะฉะนั้นเจ้าหนี้ก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติจากเดิมที่มองว่า ลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่จำเป็นจะต้องให้ความใส่ใจหรือดูแลเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะธนาคารไม่ถึงกับต้องบริหารความเสี่ยงอะไร แต่วันนี้ถ้าลูกหนี้รายเล็กซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ต้องล่มไปทั้งหมด มันก็ไม่ต่างจากการที่ลูกค้ารายใหญ่ล่มเหมือนกัน 

ผมเห็นหลายธนาคารเริ่มมองเห็นจุดนี้ และอาจจะต้องปรับทัศนคติใหม่ว่า แม้จะเป็นธุรกิจขนาดเล็กก็จริง แต่ถ้าต้องเสียมดตัวเล็กๆ เหล่านี้ไป ก็ไม่ต่างกับการสูญเสียมดตัวใหญ่เหมือนกัน และนั่นอาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินที่จะล่มสลายไปด้วยเช่นกัน