การเงินเพื่อสิทธิมนุษยชน บทบาทธนาคารกับมูลค่าความเป็นคน

27 มกราคม 2565

‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นประเด็นที่โลกกำลังให้ความสนใจมากขึ้น ซึ่งมิได้จำกัดเพียงแค่แง่มุมทางสังคมเท่านั้นที่ต้องขยับเข้าสู่ประเด็นดังกล่าว แต่ภาคการเงินและการธนาคารเองก็ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญเช่นกัน เนื่องจากการสนับสนุนทางการเงินในบางโครงการ บางประเทศ หรือบางกิจการ อาจสามารถนำไปสู่ความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงความเสี่ยงที่อันตรายอื่นๆ ได้

งานเสวนาออนไลน์ ‘Fair Finance Score เปิดคะแนนธนาคารไทยปี 4 มองอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นธรรม’ นอกจากจะเป็นการรายงานผลคะแนนการประเมินธนาคารในปีที่ 4 แล้ว ยังพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนไว้อย่างน่าสนใจ

งานเสวนาดังกล่าวประกอบด้วยวิทยากร 3 ท่านที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและมีบทบาทเกี่ยวข้องกับหัวข้อการเสวนาอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) อัมรินทร์ สายจันทร์ นักกฎหมายจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และ เชอร์ญา เคาชิค ที่ปรึกษาด้านการสนับสนุนและพัฒนางานวิจัย ตัวแทนจาก Fair Finance Asia โดยมี กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เป็นผู้ดำเนินรายการตลอดงาน

ความเกี่ยวข้องของสถาบันการเงินกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปัญหาทางสังคม

เดิมทีปัญหาสิ่งแวดล้อมมักถูกมองแยกส่วนออกจากประเด็นสิทธิมนุษยชน แต่สำหรับอัมรินทร์ให้ความเห็นว่าไม่ควรมองเช่นนั้น เนื่องจากหากมนุษย์จะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีบนหลักสิทธิมนุษยชน ก็จำเป็นต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ดีควบคู่กันไปด้วย ในทางกลับกัน การผลักดันให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ด้วยเหตุนี้อัมรินทร์จึงมองว่า ในอนาคตสถาบันการเงินจึงไม่ควรให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว เช่น นโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือโครงการปลูกป่าต่างๆ ทว่าจะต้องให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ด้วย เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรวมกลุ่ม สิทธิชุมชน ความมั่นคงทางอาหารและที่อยู่อาศัย ไปจนถึงสิทธิของเยาวชนคนรุ่นใหม่

กรณีที่เห็นได้ชัดคือ โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา แม้จะถูกสนับสนุนโดยรัฐ แต่ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าโครงการเช่นนี้จะไม่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือความเสี่ยงด้านอื่นๆ ตามมา ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่สถาบันการเงินว่าจะต้องตระหนักถึงบทบาทของตนเองในการกำกับดูแลด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการไปมีส่วนร่วมกับโครงการของรัฐหรือเอกชนต่อไปก็ตาม

จากประเด็นนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะเห็นได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา ที่มีการเริ่มโครงการโดยไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การไม่รับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ที่กังวลถึงความเสี่ยงต่อความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ทำอาชีพประมงชายฝั่ง ไปจนถึงการสลายการชุมนุมของชาวจะนะ จากข้อกังวลทั้งหมดนี้อัมรินทร์ได้ตั้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อถึงเวลาที่สถาบันการเงินจะต้องพิจารณาให้สินเชื่อโครงการดังกล่าว ข้อกังวลเหล่านี้จะถูกนำมาพิจารณาประกอบด้วยมากน้อยแค่ไหน

กล่าวในทางปฏิบัติแล้ว สถาบันการเงินย่อมมีความคล่องตัว ยืดหยุ่น และสามารถกำหนดมาตรฐานในการพิจารณาเรื่องการอนุมัติสินเชื่อต่างๆ ควบคู่ไปกับข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ได้มากกว่ากลไกของภาครัฐที่มีความเป็นราชการและติดพันกับข้อกฎหมายจำนวนมาก บทบาทของสถาบันการเงินในเรื่องดังกล่าวจึงจะมีความสำคัญต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนมากขึ้นในอนาคต

พัฒนาการของสถาบันการเงินและบทบาทด้านสิทธิมนุษยชน 

การประเมินธนาคารในปีที่ 4 ถึงแม้จะแสดงคะแนนให้เห็นแล้วว่าหลายสถาบันการเงินเริ่มให้ความสนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยในหมวด ‘สิทธิมนุษยชน’ สามารถทำคะแนนได้เพิ่มขึ้นถึง 4 ข้อ จากเกณฑ์การประเมินทั้งหมด 12 ข้อ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศเริ่มกลายเป็นเรื่องที่เร่งด่วนมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องมองสถานการณ์ด้วยความเข้าใจมากกว่าที่เป็นอยู่

หากกล่าวถึงผลการประเมินธนาคารตลอด 4 ปีที่ผ่านมา (2561-2564) สฤณีระบุว่า ในปีแรกมีสถาบันการเงินจำนวนค่อนข้างน้อยที่ได้คะแนนในหมวดสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อก้าวสู่ปีที่ 4 พบว่า มีสถาบันการเงินถึง 6 แห่ง จากทั้งหมดที่เข้าร่วมการประเมิน 11 แห่ง โดยมีการประกาศรับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ส่วนเกณฑ์การประเมินที่ตั้งขึ้นมานั้นก็เพื่อต้องการให้สถาบันการเงินกำหนดนโยบายในการกำกับดูแลลูกค้าให้ทำตามข้อชี้แนะต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติมากขึ้น

สิทธิมนุษยชนยังนับเป็นหมวดที่ธนาคารได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงหมวด ‘สุขภาพ’ เท่านั้น ซึ่งสฤณีระบุว่ามีการพัฒนาที่ดี แต่ยังสามารถพัฒนาคะแนนเพิ่มได้มากกว่านี้ เนื่องจากหากคิดสัดส่วนของคะแนนในหมวดสิทธิมนุษยชน จากคะแนนเต็ม 10 สถาบันการเงินของไทยได้คะแนนไม่ถึง 1.5 คะแนนเท่านั้น และยังถือว่าน้อยมากจนน่าตกใจ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะคะแนนส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมากระจุกตัวอยู่กับสถาบันการเงินไม่กี่แห่ง แต่ไม่ได้กระจายไปยังสถาบันการเงินอื่นๆ ที่เหลือ ดังนั้นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มคะแนนในหมวดนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่ประกาศรับหลักการ UNGPs เท่านั้น แต่คือการทำให้บรรษัทลูกค้าของสถาบันการเงินรับหลักการดังกล่าวให้ได้ด้วยเช่นกัน

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่สฤณีเน้นย้ำแม้อาจจะไม่ได้อยู่ในเกณฑ์การประเมิน คือ การเปิดเผยรายงานสรุปผลการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 4 สถาบันการเงินที่ได้เริ่มทำกระบวนการประเมินความเสี่ยงเพื่อรายงานความก้าวหน้าเหล่านี้ให้สาธารณชนรับทราบแล้ว นับได้ว่าเป็นพัฒนาการที่ดี แม้จะยังไม่ได้ถูกนำมานับคะแนนในหมวดดังกล่าวด้วยก็ตาม

ประเด็นสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนในอนาคตที่กำลังจะมีผลกับสถาบันการเงินอย่างมาก สฤณีระบุว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับลูกค้ารายย่อยและพนักงานบริการ เช่น ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของลูกค้า กับการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม และส่วนที่สองคือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้าทางธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย อาทิ ความเสี่ยงจากการลงทุนข้ามพรมแดน ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา หรือความเสี่ยงในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น พลังงาน อาหาร เหมืองแร่ เป็นต้น

ในอนาคตอาจต้องเตรียมแผนรับมือมากขึ้น โดยสิ่งหนึ่งที่สฤณีเสนอก็คือการสร้างกลไก Multi-stakeholder ที่ประกอบด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ เพื่อร่วมกันจัดทำแผนความเสี่ยงรายอุตสาหกรรม (Value Chain Risk Mapping) รวมถึงการมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนกลางที่จะช่วยทำให้ภาคการผลิตจริง (Real Sector) ตระหนักถึงและรับหลักการด้านสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับสถาบันการเงินมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นจุดหนึ่งที่ยังขาดอยู่ในกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชน และสถาบันการเงินอาจจะต้องใช้อำนาจต่อรองกับคู่ค้าทางธุรกิจมากขึ้นเพื่อทำให้กลไกการเยียวยามีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม 

เปรียบเทียบสถาบันการเงินไทย-นานาชาติ กับความรับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชน

แน่นอนว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่คาบเกี่ยวกับภาคการเงินการธนาคารนั้น มิได้มีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่กำลังเผชิญปัญหานี้ ในระดับนานาชาติและระดับภูมิภาคเองก็มีปัญหาในการนิยามและรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ไม่ต่างกัน โดยเชอร์ญาระบุว่า ความเสี่ยงด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) มีความสำคัญมากขึ้นในระดับภูมิภาค

ในภูมิภาคเอเชีย เชอร์ญาระบุว่า หากคิดสัดส่วนคะแนนในหมวดสิทธิมนุษยนชนเป็นคะแนนเต็ม 10 แล้ว คะแนนของแต่ละประเทศจะไม่ค่อยมีความแตกต่างกันนัก กล่าวคือ มีตั้งแต่กลุ่มที่ได้ 4 คะแนน ไปจนถึงกลุ่มที่ได้คะแนนเต็ม 10 ในปี 2020 ซึ่งคะแนนของไทยในปี 2021 ทิศทางการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนของสถาบันการเงินไทยสะท้อนภาพที่ดีมากเมื่อมองจากระดับภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างในประเด็นสิทธิมนุษยชนบางด้านให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ด้านความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเชอร์ญามองว่า เครื่องมือและกลไกในประเด็นดังกล่าวยังไม่ถูกขัดเกลามากนัก และเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความร่วมมือของหลายสถาบันการเงินในภูมิภาคเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านสังคม 

ในการประเมินคะแนนเหล่านี้ไปจนถึงความเสี่ยงด้าน ESG เชอร์ญาระบุว่า ภาคการเงินการธนาคารเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น แม้แต่ในแวดวงธุรกิจเองก็เริ่มพูดถึงสิทธิแรงงาน สิทธิทางเพศ การกำกับดูแลเรื่องความเทียมและสิทธิมนุษยชนต่างๆ เริ่มถูกบรรจุเข้าไปในนโยบายระดับบริหารของสถาบันการเงินหลายแห่งในเอเชียด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะยังทำได้ไม่ดีมากนักก็ตาม เช่น นิยามของความเท่าเทียมกันทางเพศยังไม่ได้รับการระบุให้ชัดเจน

ความจำเป็นในการนิยาม ‘การเงินอย่างยั่งยืน’ สำหรับระดับภูมิภาคเริ่มเป็นที่น่าจับตาสำหรับเชอร์ญา โดยเธอได้ยกตัวอย่างกรณีของสหภาพยุโรปที่มีการนำประเด็นเหล่านี้เข้าไปประเมินสถาบันการเงินในยุโรปด้วย นอกจากนี้ การบูรณาการประเด็นอื่นนอกเหนือจากเรื่องสิทธิมนุษยชนก็สำคัญเช่นกัน เช่น สิ่งแวดล้อม หรือความปลอดภัย และอีกหลายๆ เรื่องที่สามารถทำไปพร้อมกันได้ เพื่อพัฒนาสถาบันการเงินทั้งหมดในภูมิภาคให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ประเด็นเร่งด่วนของภูมิภาคเอเชียที่เป็นเรื่องท้าทายในมุมมองของเชอร์ญา คือ กรณีด้านเหมืองถ่านหิน โรงไฟฟ้า และบางกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากขาดความเคารพด้านสิทธิมนุษยชนจนไปกระทบกับภาคเศรษฐกิจ ซึ่งในระยะยาวหากไม่นำเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาโครงการเหล่านี้จะทำให้ยิ่งเป็นผลเสียในอนาคต ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ พื้นที่เกษตรกรรมที่ไม่สามารถถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง ดังนั้นการผนวกประเด็นสิทธิมนุษยชนเข้าไว้ในกระบวนการพิจารณาโครงการเพื่อให้เป็น ‘Social Theme’ จะทำให้แต่ละฝ่ายเกิดความเข้าใจในเรื่องความยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อความเข้าใจเกิดขึ้นในระดับองค์กร

ปัญหาอีกประการที่เชอร์ญามองว่าจะเกิดขึ้นตามมาถึงแม้จะเกิดความเข้าใจระดับองค์กรแล้ว คือ การที่นโยบายของสถาบันการเงินไม่สามารถถูกนำไปปฏิบัติได้ตามที่วางแผนไว้ ตัวอย่างที่เธอกล่าวถึงคือ พื้นที่เกษตรกรรมในอินเดียที่แม้จะมีการปรับใช้มาตรการจำนวนมาก แต่ปัญหาในระดับชุมชนก็ยังเต็มไปด้วยการใช้แรงงานเด็ก รวมไปถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่สถาบันการเงินยังไม่ได้ให้ความใส่ใจมากพอ เพราะความตั้งใจในระดับนโยบายไม่ได้ถูกถ่ายทอดไปสู่ระดับปฏิบัติการ หากสถาบันการเงินเริ่มหันมาพูดคุยกันว่าจะปรับปรุงช่องโหว่เหล่านี้อย่างไร มีความเข้าใจในความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ (economic risk) หรือมีความกระตือรือร้นในการประเมินความเสี่ยงหรือสร้างชุดเครื่องมือดังที่สฤณีเสนอมา ก็จะช่วยให้สถานการณ์ของพื้นที่ที่เกิดปัญหาเหล่านี้พัฒนาไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้น

กลไกเหล่านี้ควรมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน และจำเป็นต้องพูดคุยกันว่าควรมีผู้ออกกฎหรือผู้ควบคุมหรือไม่ และมีการประเมินที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพราะข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นปัญหาที่ไม่อาจรอได้ ดังนั้นสถาบันการเงินจึงควรกระตือรือร้นในการตรวจสอบและสร้างบรรยากาศที่ดีเพื่อลดความเสี่ยงด้านสังคมตั้งแต่ต้น และร่วมมือกับชุมชนหรือภาคประชาสังคมให้มากยิ่งขึ้นก่อนการตัดสินใจทำนโยบายต่างๆ ต่อไป

พัฒนาสถาบันการเงินเพื่อสังคมที่ยั่งยืน

หากมองถึงทิศทางในอนาคต อัมรินทร์ระบุว่า ภาคประชาชนไม่ได้อยากมองสถาบันการเงินเป็นขั้วตรงข้าม เพราะสถาบันการเงินเองมิใช่ผู้ก่อความเสี่ยงโดยตรง หลายครั้งผู้ก่อความเสี่ยงเหล่านั้นคือบรรษัทลูกค้าของสถาบันการเงิน ดังนั้นความร่วมมือในเชิงรุกระหว่างสถาบันการเงินและภาคประชาสังคมจึงควรมีมากยิ่งขึ้น เพื่อรับมือต่อไป

ทางด้านสฤณีระบุว่า หากพิจารณาจากแนวโน้มของคะแนนในการประเมินธนาคารปีที่ 4 ถึงแม้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ในด้านสิทธิมนุษยชนนั้นยังคงมีคำถามว่าธนาคารจะมีกลไกอย่างไรต่อไปเพื่อให้รู้ว่าบรรษัทลูกค้าจะทำตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชน และสถาบันการเงินจะบังคับใช้ข้อกำหนดต่างๆ อย่างไร รวมถึงความท้าทายในการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้เสียของลูกค้าธนาคารจะทำได้หรือไม่นั้น แม้แต่ในต่างประเทศก็ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก สิ่งสำคัญจึงควรเป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินที่จะเป็นผู้ตรวจสอบลูกค้าของตนเอง โดยการสร้างระบบรับเรื่องร้องเรียนจากภายนอก เพื่อช่วยสะท้อนให้สถาบันการเงินมองเห็นความเสี่ยงด้านสังคมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กรอบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของธนาคารต้องถูกยกระดับความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเชอร์ญาบอกว่า หากมีการกำหนดกรอบนโยบายที่ชัดเจนในระดับโครงสร้างก็จะทำให้การทำงานของภาคประชาสังคมมีความราบรื่นมากขึ้นในการตรวจสอบ รายงานผล และสามารถสะท้อนข้อมูลกลับไปยังสถาบันการเงินได้อย่างเต็มที่ และทำให้สถาบันการเงินมีความโปร่งใสยิ่งขึ้น 

ไม่เพียงการกำหนดกรอบนโยบายที่ชัดเจนของธนาคาร การมองไปถึงภาพใหญ่ระดับนโยบายของรัฐเองก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางของสถาบันการเงินในการสนับสนุนโครงการต่างๆ เชอร์ญากล่าวว่า ในอนาคตการประเมินในรูปแบบ peer-to-peer ของแต่ละประเทศ จะช่วยลดบรรยากาศความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสถาบันการเงิน ชุมชน และภาครัฐลงได้

สิทธิมนุษยชนที่ยั่งยืน เพื่อการเงินที่เป็นธรรม

บทสรุปจากความคิดเห็นของวิทยากรทั้งสาม ว่าด้วยบทบาทของสถาบันการเงินกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชน กล่าวได้ว่า แม้คะแนนในหมวด ‘สิทธิมนุษยชน’ จะเพิ่มขึ้นในการประเมินปีที่ 4 แต่การสร้างความยั่งยืนและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนยังคงต้องการเครื่องมือสำคัญเพื่อการถักทอความร่วมมือของสถาบันการเงินที่มากขึ้น มิเช่นนั้นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเกิดความเสี่ยงด้านสังคมและธรรมชาติจากโครงการต่างๆ นอกเหนือไปจากเกิดความเสียหายที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ต่อวิถีชีวิตหรือธรรมชาติแล้ว ยังสามารถย้อนกลับมาส่งผลต่อความมั่นใจด้านการลงทุนและเศรษฐกิจในระยะยาวได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินไม่สามารถที่จะดำเนินมาตรการเพื่อยกระดับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนได้เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งทุกฝ่ายต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สถาบันการเงินและภาคประชาสังคมจำเป็นต้องร่วมมือกันให้มากขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังต้องยกระดับความร่วมมือกับชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละโครงการให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ที่สำคัญคือการประสานความร่วมมือกับภาครัฐให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากภาครัฐเป็นผู้มีบทบาทหลักในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน อันจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป

ความร่วมมือของทุกฝ่ายดังกล่าวยังส่งผลให้สถาบันการเงินสามารถผลักดันนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ไปไกลกว่าเดิม ได้ด้วยการกำหนดกรอบที่ชัดเจนให้แก่บรรษัทลูกค้าของสถาบันการเงิน ซึ่งจะเป็นการสร้างหลักประกันในอนาคตว่าประเด็นเหล่านี้จะไม่ถดถอยลงมากกว่าเดิม หากดูจากผลคะแนนในหมวด ‘สิทธิมนุษยชน’ ที่สถาบันการเงินส่วนมากรับหลักการของ UNGPs แล้ว แต่ยังไม่สามารถทำให้บรรษัทลูกค้ารับหลักการไปด้วยได้ทั้งหมด การทำให้บรรษัทลูกค้าของสถาบันการเงินรับหลักการด้านสิทธิมนุษยชนไปด้วยจึงเป็นสิ่งที่สถาบันการเงินต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในอนาคต โดยอาจจะผ่านข้อเสนอของการเพิ่มกลไกกลางในการรับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนหรือการเพิ่มความมั่นใจในกระบวนการเยียวยาของบรรษัทลูกค้าของสถาบันการเงินมากกว่านี้

ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต จึงเป็นหัวใจสำคัญของการประเมินธนาคารในปีต่อๆ ไป และเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยสร้างความโปร่งใส ความยั่งยืน และความเป็นธรรมให้แก่ภาคการเงินและสังคมต่อไป