นักลงทุน ธนาคาร และรัฐบาลไทย ใต้ภูเขาน้ำแข็งของการละเมิดสิทธิคนทวาย

03 พฤศจิกายน 2564

“ถ้าเราไม่ได้เดินทางไปเห็นกับตา เราก็คงไม่รู้” ธีระชัยเปรยขึ้น 

ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร คือนักวิจัยและหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ‘เสรีภาพแม่น้ำโขง’ (The Mekong Butterfly) กลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อจับตาการลงทุนข้ามพรมแดน โดยเฉพาะทุนไทยที่เข้าไปในประเทศลุ่มน้ำโขง ไม่ว่าจะกัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมา 

หน้างานของธีระชัยอยู่ในเมียนมาเสียเป็นส่วนใหญ่ เพื่อติดตามสถานการณ์การลงทุนของกลุ่มทุนจากประเทศไทยในเมียนมา โดยเฉพาะโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย หนึ่งในสถานที่ที่เขาบอกกับเราว่า หากไม่ได้เห็นกับตา เขาคงไม่รู้ 

เพียงข้ามเส้นพรมแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ภาพตรงหน้าของธีระชัย คือภาพของพลเมืองเมียนมาจำนวนมากกำลังเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติถูกรุกล้ำ ชาวบ้านในชุมชมหลายแห่งของเมียนมาต้องโยกย้ายจากถิ่นฐานเดิม เมื่อรัฐบาลไล่ยึดพื้นที่เพื่อแปลงเป็นถนนหนทางต้อนรับโครงการขนาดใหญ่ที่กลุ่มทุนมากมาย (รวมทั้งไทย) กำลังหมายตา ไปจนถึงปัญหาทางสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาโครงการร้อยแปดพันเก้าที่กัดกินระบบนิเวศและมีพลังทำลายล้างโดยไม่จำกัดเพียงพรมแดนของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

ถ้าไม่ไปเห็นก็คงไม่รู้ ว่าตัวละครสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชะตากรรมของผู้คนจำนวนมากในประเทศเพื่อนบ้าน คือ รัฐบาลไทย เอกชนไทย รัฐวิสาหกิจไทย และธนาคารไทย 

“ในช่วง 1 ทศวรรษ ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้านเยอะมาก จนมีการวิเคราะห์ว่า มันเยอะเสียจนเราต้องนำมามัดรวมกันและผลักดันบางอย่างในเชิงนโยบาย ให้เขาแคร์เรื่องสิ่งแวดล้อม แคร์ชาวบ้าน แคร์สิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพราะโครงการใหญ่ๆ เหล่านี้ใช้พื้นที่มหาศาล ที่เราติดตามอยู่ตอนนี้มีประมาณ 11 โครงการ ทั้งในพม่า ลาว กัมพูชา ที่กลุ่มทุนไทยไปลงทุนไว้”

เกิดอะไรขึ้นในเมืองทวาย

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ในเมียนมา คือกรณีศึกษาที่ธีระชัยยกมาเพื่ออธิบายว่า ทำไมเราจึงต้องทำความเข้าใจเรื่องของการลงทุนข้ามพรมแดน แล้วอะไรบ้างที่เรายังไม่รู้ 

โครงการนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเมียนมา ทั้งในมิติของพื้นที่และเม็ดเงินการลงทุน โดยกินพื้นที่ครอบคลุมถึง 196.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 10 เท่าของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และมีมูลค่าการลงทุนถึง 30,000 ล้านบาท 

รัฐบาลไทย คือหนึ่งในผู้ถือหุ้นร่วมกับรัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle) ในชื่อบริษัท ทวาย เอส อีแซด ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (Dawei SEZ Development Company Limited) โดยทั้งสามฝ่ายได้เซ็นบันทึกเจตจำนงร่วมกันพัฒนาโครงการทวายระยะสมบูรณ์ The Memorandum of Intent (MOI) แบ่งสัดส่วนถือหุ้นเท่ากันคือร้อยละ 33.33 โดยรัฐบาลไทยถือหุ้นผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) หรือ Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency (Public Organization) ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า NEDA ในสังกัดกระทรวงการคลัง

ส่วน อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด คือบริษัทเอกชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ ซึ่งในระยะพัฒนาโครงการ (2553-2556) ขณะนั้น บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ได้สัญญาสัมปทานเป็นเวลา 60 ปี (อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการยังประสบปัญหาขาดแหล่งทุน โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีแรกของการลงทุน (2553-2556) บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ไม่สามารถหาเงินและผู้ร่วมลงทุนท่าเรือทวายและนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายได้ตามสัญญา ในปี 2556 บริษัทจึงต้องหลีกทางให้ผู้รับสัมปทานรายใหม่ ประเทศไทยจึงดึงรัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาเป็นผู้ร่วมลงทุนแทน แม้ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ จะถูกยกเลิกสัญญา แต่ยังกลับเข้ามาเป็นผู้พัฒนาโครงการทวายระยะแรก (Initial Phase) บนพื้นที่ราว 27 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีก 8 ตารางกิโลเมตร

ในส่วนการสนับสนุนเงินทุนของธนาคาร เนื่องจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงสัญญาสัมปทานฉบับแรก บมจ. อิตาเลียนไทยฯ มีการลงทุนไปกว่า 189 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการสำรวจและวางโครงสร้างพื้นฐานของโครงการฯ เช่น ถนน ท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม (Thame, 2017)

ในช่วงการดำเนินงานในสัญญาสัมปทานฉบับแรกนี้ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารไทย 4 แห่ง ประกอบไปด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย ในฐานะเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบริษัท โดยเว็บไซต์กฎหมายแห่งหนึ่งของประเทศไทยระบุว่า ได้รับการว่าจ้างเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อปี 2553 ในการวางโครงสร้างทางการเงินให้กับ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ มูลค่ากว่า 8,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาโครงการนี้ รวมถึงในปี 2556 แหล่งข่าวได้ระบุว่า ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงเทพ ได้เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้มูลค่า 235 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ในช่วงปลายปีเดียวกัน บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ได้หมดสัญญาสัมปทานลง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 โครงการได้ถูกยกระดับจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา โดย บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ได้รับสัญญาสัมทานใหม่อีกครั้งในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรก ซึ่งมีธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศเป็นผู้นำการสรรหาเงินทุนของโครงการ ส่วนธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย ยังคงอยู่ในฐานะผู้สนับสนุนและที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ รวมถึงธนาคารไทยพาณิชย์ยังเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลของโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการท่าเรือ ถนนเชื่อมโยงระหว่างไทย-เมียนมา

ที่แห่งนี้ถูกวาดหวังให้กลายเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วยอุตสาหกรรมแทบทุกประเภท ทั้งปิโตรเคมี โรงงานผลิตเหล็ก โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี และโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก (การสร้างเส้นทางเชื่อมมายังประเทศไทย ทั้งถนน รถไฟ ท่อส่งน้ำมัน สายไฟฟ้าแรงสูง) และการสร้างอ่างเก็บน้ำ 

จากรายงานเมื่อปี 2557 ของสมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association: DDA) คาดว่า ในระยะเริ่มต้นของโครงการนั้น จะมีประชากรกว่า 43,000 คน ใน 36 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการนี้ 

ชะตากรรมของผู้คนอีกฟากฝั่งพรมแดนที่พ่วงมากับโครงการพัฒนา หากให้ไล่เลียงจนครบคงไม่สามารถบรรยายได้หมดในพื้นที่นี้ ธีระชัยจึงยกเป็นบางกรณีเพื่ออธิบายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น

“ในทวายจะชัดมาก เพราะก่อนหน้านั้น เขาเซ็นสัญญาการลงทุนกันในรัฐบาลกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ บริษัทอิตาเลียนไทยก็เข้าไปดำเนินโครงการ ซึ่งในตอนนั้นกฎหมายหรือนโยบายในการดูแลประชาชนในพื้นที่และสิ่งแวดล้อมมันยังไม่เกิด เมื่อเขาได้สัมปทานปุ๊บ เขาก็มองว่า พื้นที่นั้นเป็นของเขา เป็นกรรมสิทธิ์ที่เขาจะพัฒนาโครงการ รูปธรรมที่ชัดเจนคือการเข้าไปถางพื้นที่เพื่อสร้างถนน เกลี่ยถนน บ้านชาวบ้านแถวนั้นเป็นชุมชนกะเหรี่ยง ตกเย็นกลับถึงบ้าน อ้าว สวนหาย ต้นไม้หาย บ้านหาย มันเป็นในลักษณะนี้ ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ไม่มีการถามไถ่เลย กฎหมายก็ไม่มีคุ้มครอง มันจึงเกิดความขัดแย้งอยู่เสมอ นี่คือกรณีที่ชัดเจน”

ในรายงานของ DDA ระบุว่า ปี 2553 บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เริ่มเข้าไปทำกิจกรรมก่อสร้างบริเวณชายฝั่ง โดยไม่มีการแจ้งชาวบ้านล่วงหน้า และต่อมาในปี 2554 มีประกาศอย่างเป็นทางการให้ 19 หมู่บ้าน โยกย้ายออกจากพื้นที่เพื่อก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และมีอีก 3 หมู่บ้าน ต้องโยกย้ายอย่างไม่เป็นทางการ รวมทั้งสิ้น 22 หมู่บ้าน 

ชาวบ้านจำนวนมากสูญเสียที่ดิน บ้านหลายหลังถูกทำลาย ถนนถูกตัดผ่ากลางพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน การไหลเวียนของน้ำผิดปกติ ที่นาไม่สามารถเพาะปลูกได้อีกต่อไป เนื่องจากภัยพิบัติดินถล่มและน้ำท่วม ป่าชายเลนถูกทำลาย สัตว์ป่าชายเลนบางชนิดหายากมากขึ้นและบ้างก็สูญหาย ความมั่นคงทางอาหารถูกสั่นคลอน บางชุมชนต้องเผชิญกับการระเบิดภูเขา ส่งผลให้หน้าดินไหลมาทับถมที่นาและกีดขวางทางน้ำ แล้วไหนจะน้ำเสียที่ไหลบ่ามาจากการใช้เครื่องจักรของโครงการ ลำธารที่เคยบริสุทธิ์ถูกปนเปื้อนและเน่าเสีย

“อีกกรณีที่เราติดตามอยู่ คือเหมืองแร่ดีบุกเฮงดาในโซนใกล้กับทวาย ที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในเหมืองนี้ ซึ่งลงทุนไปประมาณ 20 กว่าปีแล้ว ชาวบ้านก็ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายด้วยข้อกล่าวหาว่าเหมืองดูแลบ่อกักเก็บกากแร่ไม่ดี ทำให้สารพิษต่างๆ ปนมากับน้ำ สวนเกษตรของชาวบ้านก็เสียหาย ซึ่งชาวบ้านฟ้องร้องหลายเคสมาก บางเคสศาลก็ยกฟ้อง แต่บางเคสศาลก็ตัดสินให้ชนะ” 

เหมืองเฮงดา คือเหมืองแร่ดีบุกขนาดใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุด ตั้งอยู่ในเขตตะนาวศรีตอนบน เมืองมยิตตา จังหวัดทวาย โดยโครงการเหมืองแร่ดีบุกเฮงดานี้ คือการลงทุนโดยนักธุรกิจไทย ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2542 กิจการในเหมืองประกอบด้วยดีบุก ทังสเตน ทอง ไทเทเนียม แพลตตินัม มีพื้นที่สัมปทานประมาณ 5,000 ไร่ 

หมู่บ้านเมียวพิว ตั้งอยู่ห่างจากเหมืองเฮงดาเพียง 2 กิโลเมตร ประชากรราว 500 คน มีลำคลองสำคัญชื่อเดียวกันคือ คลองเมียวพิว คลองแห่งนี้ไหลผ่าน 30 หมู่บ้าน ก่อนจะไหลลงแม่น้ำตะนาวศรีและออกสู่ทะเลอันดามันในที่สุด 

ในปี 2551 เกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งแรก ส่งผลให้น้ำล้นทะลักออกจากบ่อกักเก็บตะกอนของเหมือง ต่อมาในปี 2555 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอีกครั้ง ทว่าคราวนี้เป็นการท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ท่วมนานถึง 11 วัน ส่งผลให้ตะกอนหลุดออกจากบ่อกักเก็บตะกอน 3 แห่ง เมื่อบ่อมีความตื้นเขินและไม่สามารถเก็บกากแร่ไว้ได้ ตะกอนเหล่านี้จึงหลุดออกมาปนเปื้อนกับแหล่งน้ำที่ชาวบ้านเมียวพิวพึ่งพา และในเวลาต่อมา เหตุการณ์ครั้งนี้ทำลายล้างสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ทุเรียน สวนหมาก มะม่วงหิมพานต์ และพื้นที่การเกษตรอื่นๆ ถูกทำลายเสียหาย ซึ่งนั่นหมายถึงผู้คนร่วม 500 ชีวิตที่ต้องเผชิญโศกนาฏกรรม

เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติได้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยชาวบ้านได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบ เช่น ต้นหมากหลายต้นติดผลไม่มากเหมือนเมื่อก่อน ลำต้นเตี้ยลง บ้างยืนต้นตาย รายได้และความอุดมสมบูรณ์แต่เดิมได้อันตรธานหายไป ส่วนคลองเมียวพิวที่เคยเป็นแหล่งอุปโภคบริโภคของชุมชน บัดนี้ถูกทับถมด้วยตะกอนและกากแร่ที่มากับน้ำ จนชาวบ้านต้องหันไปใช้น้ำจากภูเขาหรือใต้ดิน ทว่าหลายครอบครัวก็ไม่สามารถใช้น้ำใต้ดินได้เนื่องจากปนเปื้อนเช่นกัน 

สิ่งที่เกิดขึ้นที่เมียวพิว ธีระชัยกล่าวว่า มันคือการละเมิดทั้งสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิทธิในการดำรงชีวิต ผลกระทบด้านสุขภาพ อีกทั้งกระบวนการชดเชยเยียวยาที่อ่อนแอ 

พริบตาเดียวเท่านั้นที่ทำให้ชีวิตของชาวบ้านเมียวพิวไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การขาดการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองเฮงดา ได้พัดพาความปกติสุขของชาวบ้านหายไป นับแต่วันนั้น

ใครบ้างต้องรับผิดชอบ

เหตุการณ์ข้างต้น เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นกับประชาชนเมียนมา เพราะจากการเกาะติดของธีระชัยและคณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดน (Extra-Territorial Obligations: ETOs Watch) ที่ได้ติดตามโครงการอีกจำนวนมากในเมียนมา เช่น โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอัตจี โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โครงการเหมืองแร่ดีบุกเฮงดา โครงการเหมืองแร่ถ่านหินบานชอง โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเย โครงการโรงงานปูนซีเมนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหินเมาะลัมไย ล้วนมีผลกระทบเช่นกัน

“การติดตามสถานการณ์การลงทุนข้ามพรมแดน มีเป้าหมายคือ ผลักดันให้เกิดธรรมาภิบาลในการลงทุนของทุนไทย ทั้งรัฐวิสาหกิจ บริษัท ภาครัฐ ให้เกิดธรรมาภิบาลมากขึ้น พูดง่ายๆ คือ ต้องแคร์สังคม ชุมชน สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

“ในกรณีของโครงการทวาย เราพยายามผลักดันให้สำนักงาน​คณะกรรมการ​สิทธิ​มนุษยชน​แห่งชาติ​ (กสม.)​ เข้าไปตรวจสอบการลงทุนของทุนไทยในโครงการนี้ เมื่อมีผลการตรวจสอบออกมาว่า มีการละเมิดสิทธิ์ กสม. ก็จะมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในการออกมาตรการ กฎหมายลูก หรือมีมติจากคณะรัฐมนตรีออกมาให้นักลงทุนไทยแคร์เรื่องการลงทุนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น”

หลังจากการตรวจสอบของ กสม. ส่งผลให้ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบที่จะผลักดันให้ดำเนินการปรับปรุงการลงทุนของภาคเอกชนไทยในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยให้มีการกำกับดูแลการลงทุนในต่างประเทศของ ‘ผู้ลงทุนสัญชาติไทย’ บนฐานของการเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชน ตามหลักการของสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ซึ่งมีกรอบหลักการ 3 เสาหลักคือ 

  • เสาหลักที่ 1 การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Protect) รัฐมีหน้าที่คุ้มครองมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจากองค์กรของรัฐเองหรือองค์กรภาคธุรกิจ 
  • เสาหลักที่ 2 การเคารพสิทธิมนุษยชน (Respect) บุคคลและองค์กรที่ประกอบธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดหรือขนาดใดก็ตาม ย่อมมีความรับผิดชอบที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน
  • เสาหลักที่ 3 การเยียวยา (Remedy) การแก้ไข ฟื้นฟู ชดเชย เมื่อเกิดผลกระทบหรือมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เนื่องมาจากการประกอบธุรกิจ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต้องมีกลไกในการเยียวยาที่มีประสิทธิผล

“เราพยายามผลักดันให้เกิดธรรมาภิบาลผ่านมติ ครม. นี้ ซึ่งจริงๆ แล้วมติ ครม. มีขึ้นต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ที่ไทยเข้าร่วมเวที Universal Periodic Review (UPR) ณ กรุงเจนีวา ในปี 2559 เป็นการรับคำมั่นอย่างสมัครใจ หลังถูกท้วงติงเรื่องของธุรกิจจากนักลงทุนไทยซึ่งส่งผลต่อสิทธิมนุษยชนกับคนหลายพื้นที่ ตัวแทน UPR จากสวีเดนจึงเสนอให้ไทยรับหลักการชี้แนะจากสหประชาชาติ ซึ่งไทยก็รับและให้คำมั่นนั้น” 

สิ่งที่จะเป็นรูปธรรมเพื่อยืนยันว่า ไทยได้นำหลักการนี้ไปปฏิบัติจริง นั่นคือการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ซึ่งในท้ายที่สุด ประเทศไทยก็ได้ออกแผนปฏิบัติการดังกล่าวในปี 2562 โดยผู้ร่างแผนนี้คือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้กระทรวงยุติธรรม โดยในแผนมีสาระสำคัญ 4 ประเด็นหลักที่ต้องเร่งแก้ไขคือ 

  • แรงงาน 
  • ชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
  • นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 
  • การลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ 

คำมั่นและแผนปฏิบัติดังกล่าวในทางปฏิบัติ จากการติดตามสถานการณ์ดำเนินการเกี่ยวกับ ‘สิทธิชุมชนและการจัดการฐานทรัพยากรข้ามพรมแดน’ ของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่า ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมเนื่องจากการลงทุนของธุรกิจสัญชาติไทยในประเทศเพื่อนบ้าน มิได้เป็นไปตามหลักการ UNGPs และสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีแต่อย่างใด 

“บรรยากาศในการผลักดันเรื่องธรรมาภิบาลในยุคของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยากกว่า เพราะเขาไม่ค่อยสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนเท่าไรนัก แต่เขารับหลักการต่างๆ ของนานาชาติ เช่น การรับหลักการของ UNGP ซึ่งดูเหมือนมีความก้าวหน้า แต่สถานการณ์ในประเทศกลับตรงกันข้าม 

“มีอยู่ช่วงหนึ่งที่รัฐบาลไทยปัจจุบันพยายามจะยึดเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ และพยายามจะล้างภาพเผด็จการออกไป แต่ในเชิงปฏิบัติเป็นคนละเรื่องกัน หลักการที่ออกมาเป็นแผนปฏิบัติการเหล่านั้น ไม่ได้ถูกนำไปใช้จริง เพราะไม่เอากฎหมายไปบังคับใช้ มันเป็นเพียงแผนแม่บท แต่ไม่มีการไปบังคับหรือมีบทลงโทษบริษัทที่ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในประเทศต่างๆ ไม่มีการกำกับในเชิงบังคับจริงๆ นี่คือปัญหา”

ธนาคารไทย อยู่ตรงไหนในสมการลงทุน

อย่างที่ทราบกันว่า ธนาคารไทยได้นำเงินฝากของประชาชนไทยไปลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของไทยด้วย 

ดอกเบี้ยที่ธนาคารนำมาจ่ายแก่ผู้มีบัญชีเงินฝากนั้น มาจากการนำเงินฝากของประชาชนไปปล่อยกู้ให้กับโครงการต่างๆ ที่ต้องการเงินลงทุน ทว่าสิ่งที่เราไม่เคยรู้ และยากที่จะรับรู้ นั่นคือเงินของเราถูกนำไปปล่อยกู้ให้ใครบ้าง แล้วโครงการเหล่านั้นได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนในประเทศใดและในทางใดบ้าง

“ในกรณีทวาย มีการปล่อยกู้ในลักษณะ ‘ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ’ หรือ ODA (Official Development Assistance) ซึ่งในประเทศไทยจะมีองค์กรที่เรียกว่า ‘NEDA’ หรือ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) อยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงการคลัง เป้าหมายของเขาก็คือการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนหรือเอเชียในบางพื้นที่ให้เกิดโครงข่ายเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการเงินและวิชาการ ในการสนับสนุนประเทศนั้นๆ ที่ต้องการเงินไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สร้างถนน การประปา ไฟฟ้า

“ในโครงการทวาย NEDA ให้เงินกู้แก่เมียนมา เพื่อไปสร้างถนนเชื่อมจากพุน้ำร้อนที่กาญจนบุรีไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ระยะทางประมาณ 138 กิโลเมตร เป็นเงินลงทุนประมาณ 4,500 ล้านบาท งบประมาณนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่โครงการที่ NEDA นำเงินส่วนใหญ่มาจากงบประมาณแผ่นดิน หรือก็คือภาษีประชาชนไทยนี่แหละ ไปให้เขากู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าถูกมาก”

อีกกรณีที่ให้ภาพชัด อย่างโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีในประเทศลาว เขื่อนที่ธีระชัยเรียกว่า ‘เขื่อนลาวสัญชาติไทย’ เนื่องจากโครงการนี้ลงทุนโดยบริษัทไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยมีธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเพื่อการส่งออก (Exim Bank) ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารทิสโก้  

“เงินที่เขาเอาไปลงทุน ก็คือเงินของพวกเราที่เอาไปฝากธนาคารนั่นแหละ

“คำถามคือ แล้วธนาคารหรือสถาบันการเงินเหล่านี้ มีนโยบายการปล่อยกู้ในโครงการแบบไหนบ้าง อย่างโครงการเขื่อน เรามักได้ยินวาทกรรมว่า ‘เป็นโครงการที่มีความยั่งยืน’ ไม่ได้สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากเท่ากับพวกพลังงานฟอสซิล อีกทั้งธนาคารส่วนใหญ่ในโลกตอนนี้ก็เน้นไปที่การไม่ปล่อยกู้โครงการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมถ่านหิน เพราะเขามองว่าส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชัดเจน แต่อย่างโครงการสร้างเขื่อน เขาอาจจะมองข้ามไปว่า การจะได้มาซึ่งเขื่อนหนึ่งๆ มันต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง ต้นไม้ สัตว์ ปลา คน เขามองแต่เพียงว่าขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าออกมามันไม่ส่งผลกระทบ”

จากรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเชื่อนไซยะบุรี (Feasibility Study: FS) ระบุว่า 58 หมู่บ้านเหนือเขื่อนไซยะบุรีไปจนถึงเมืองหลวงพระบาง ซึ่งกินระยะทางเลียบแม่น้ำโขงถึง 90 กิโลเมตร มีประชากรมากกว่า 25,676 คน คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนนี้ 

29 ตุลาคม 2562 คือวันที่มีการเปิดใช้งานของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นครั้งแรก ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงและชีวิตผู้คนนับแต่นั้นประจักษ์ชัดว่า ผลกระทบจากโครงการนี้ได้เดินทางข้ามพรมแดนด้วย 

เมื่อน้ำโขงท้ายเขื่อนลดระดับจนแห้งขอด องค์ประกอบในระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง กระทั่งหลายพื้นที่ในภาคอีสานเกิดสาหร่ายแม่น้ำโขงระบาดหนักหลายเดือน การเกิดภาวะน้ำใสไร้ตะกอนธาตุอาหาร นี่คือภาพที่ธีระชัยไปเห็น

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการที่ไทยไปลงทุนในต่างแดนเหล่านี้ เป็นผลกระทบที่ไม่มีพรมแดน คนซวยไม่ใช่แค่ชาวบ้านในพื้นที่การสร้างเขื่อนที่ต้องถูกอพยพโยกย้าย แต่ชาวบ้านที่ต้องหากินกับแม่น้ำหรือทำการเกษตรริมโขงก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ความผันผวนของน้ำโขงส่งผลต่อความผันผวนของชีวิต คน และสัตว์น้ำ ทั้งสิ่งที่เป็นมนุษย์ และไม่ใช่มนุษย์

“ขณะที่ธนาคารส่วนใหญ่ยังมองว่าเขื่อนยั่งยืนได้ มีศัพท์อย่าง ‘เขื่อนยั่งยืน’ เกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นการเล่นแร่แปรธาตุในทางวิชาการในการรับรองเขื่อน ธนาคารเหล่านี้จึงไม่มีนโยบายที่จะระงับการลงทุน สมมุติว่ามีนักลงทุนมาขอกู้เงินไปสร้างเขื่อน และเขื่อนนี้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ก็ยิ่งทำให้ธนาคารเชื่อใจได้ว่า ฉันจะได้เงินกลับมาแน่นอน วิธีคิดของเขาจึงไม่กว้างมากนักในการมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบางโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 กรณีแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม Fair Finance Thailand เรียกร้องธนาคารไทยแสดงจุดยืนต่อเขื่อนหลวงพระบาง พร้อมพิจารณายกเลิกให้สินเชื่อ

“พวกเราประชาชนไทย อยากจะย้ำกับธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องเรื่องการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง โดยขอเน้นย้ำเหตุผล 5 ประการ ที่ธนาคารไทยไม่ควรให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ได้เคยนำเสนอต่อ ธปท. และผู้แทนธนาคาร”

เหตุผล 5 ประการดังกล่าว มีดังนี้ 

  1. ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ในเมื่อปัจจุบันปริมาณสำรองไฟฟ้าพุ่งทะลุ 50 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ปริมาณสำรองส่วนเกินมีมากกว่า 10,000 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับเขื่อนหลวงพระบาง 6.8 เขื่อน จนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกาศว่ากำลังพิจารณายกเลิกการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ
  2. ความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงการเขื่อนหลวงพระบางอยู่ในระดับสูง บางด้านมากกว่าโครงการไซยะบุรี เช่น ความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว และความเสี่ยงต่อเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง แต่บริษัทเจ้าของโครงการไม่มีการประเมินความเสี่ยงเพียงพอ อาทิ ไม่เคยมีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน และไม่คำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ต่อการใช้งานของเขื่อน เป็นต้น
  3. ผลจากกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ทั้ง 3 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เรียกร้องให้ศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสม
  4. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคนี้ เมื่อเจ้าหนี้ลาวเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ คือประเทศจีน
  5. ความเสี่ยงทางการเงิน

สำหรับธีระชัย นอกจากธนาคารต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น และประกาศนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนตามหลัก UNGP และมีกลไกติดตามตรวจสอบให้ลูกหนี้ธุรกิจของธนาคารปฏิบัติตามหลักการชี้แนะดังกล่าวแล้ว อีกประการสำคัญคือ การผลักดันเชิงนโยบาย

“เราต้องมีกฎหมายออกมากำกับ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่อย่างนั้นประชาชนก็ต้อง call out ทุกโครงการ มันเหนื่อย การมีกฎหมายกำกับและมี Open Government ที่เปิดเผยข้อมูลสัญญาการซื้อขายต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อส่วนรวมหรือประชาชนทั้งในประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง ถ้ารัฐบาลหรือบริษัทโปร่งใสเรื่องข้อมูล ก็จะทำให้เรามีเครื่องมือในการตัดสินใจว่าจะเรียกร้องอะไรกับบริษัทเหล่านี้ต่อไปได้” ธีระชัยทิ้งท้าย

อ้างอิง