เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ความเดือดร้อนเมื่อเขื่อนแตก
Fair Finance Thailand ขอยกอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ซึ่งธนาคารไทยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 24 ก.ค. 2561 ได้เกิดเหตุสันเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของลาวที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างแตก ทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลไหลทะลักลงแม่น้ำเซเปียน ท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านในแขวงอัตตะปือ เมืองสนามไชย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 71 คน และบ้านเรือนหลายพันหลังรวมทั้งที่ทำกินเสียหาย
เขื่อนนี้เป็นอีกหนึ่งแหล่งพลังงานไฟฟ้าของไทย มีบริษัทไทยถือหุ้น 25% โดยบริษัทไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด มหาชน ที่มี กฟผ.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับบริษัทต่างชาติอื่นๆ หลังจากก่อสร้างเสร็จ กำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้ 90 เปอร์เซ็นต์ก็จะถูกส่งกลับมายังประเทศไทยเป็นเวลา 27 ปี
เงินที่ใช้ลงทุนเป็นสินเชื่อร่วม (Syndication loan) ของธนาคารไทย 4 แห่งคือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารธนชาต
จนถึงวันนี้ผ่านมากว่า 1 ปี ชาวบ้านในลาวเกือบ 5,000 คนยังคงเป็นผู้ไร้บ้านจากภัยพิบัติดังกล่าว และยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อหายนะที่เกิดขึ้น (อ่านเพิ่มเติม https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/841831)
แม้ว่าโครงการขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดผลกระทบสูงทุกรายจะต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental impact assessment: EIA) ของโครงการก่อนธนาคารถึงจะให้สินเชื่อ
แต่เหตุการณ์สันเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก แสดงให้เห็นชัดว่า “การปฏิบัติตามกฎหมายยังไม่เพียงพอที่จะลดผลกระทบทางลบไม่ให้เกิด” เพราะ กฎหมาย EIA ของไทยยังมีช่องว่างที่ ไม่ระบุกระบวนการติดตามผลกระทบหลังเริ่มโครงการ
ดังนั้น ธนาคารจะต้องมีการตรวจสอบรอบด้าน รวมถึงมีกลไกกวดขันให้ลูกหนี้ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหากเกิดความเสียหายขึ้น