ถึงเวลาแล้วที่ธนาคารไทยจะปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ!

27 กันยายน 2562

อย่างที่ทราบกันว่าธนาคารนำเงินที่เราฝากไปลงทุนในหลายโครงการ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคม เช่น ทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในทางกลับกัน ปัญหาเหล่านี้ก็ย้อนกลับมาทำลายธนาคารพาณิชย์ ทำให้ธนาคารเสื่อมเสียชื่อเสียงเพราะให้การสนับสนุนโครงการที่สร้างผลกระทบทางลบ หรือสูญเสียเงินเพราะบริษัืทที่ธนาคารให้การสนับสนุนไม่สามารถชำระเงินคืนได้

(อ่านเพิ่มเติมเรื่อง: ธนาคารปล่อยกู้ให้ใคร แล้วเกี่ยวอะไรกับเรา ?)

ดังนั้น ธนาคารที่ก้าวหน้าทั่วโลก ต่างมีนโยบายลดความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ ESG risk (Environmental, social and governance risk) โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “นโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ” เพื่อจัดสรรทรัพยากรทุนให้ไปในทิศทางที่เหมาะสม

สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญและพยายามผลักดันเรื่องนี้เช่นกัน

ในวันที่ 13 สิงหาคม 2562 นับเป็นนิมิตรหมายอันดี เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และผู้บริหารจาก 15 ธนาคารพาณิชย์ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง “แนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ในด้านการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ” (Sustainable Banking Guidelines – Responsible Lending)

สมาคมธนาคารไทยเผยแพร่แนวทางปฏิบัติออกมาสำหรับธนาคารพาณิชย์ 4 ข้อ ได้แก่

- การแสดงเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ
- การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย
- การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายใน
- การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส

อ่านเพิ่มเติม: https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256204Knowledge02.aspx
อย่างแรกธนาคารควรประกาศให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบว่า ธนาคารมีจุดยืนที่จะปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ จะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล ซึ่งทำได้โดย

- คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง ประกาศคำมั่น (commitment) ว่าจะปฏิบัติตามแนวทางการปล่อยสินเชื่อที่รับผิดชอบ

- กำหนดกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อที่รับผิดชอบ และสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้เสียภายในและภายนอกให้รับรู้โดยทั่วกัน
ส่วนที่ 2 เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของกิจกรรมธนาคาร ไม่ใช่แค่ผู้กำกับดูแล ผู้ถือหุ้น และลูกค้า แต่ยังมีชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่โครงการ ดังนั้น ธนาคารต้องหารือกับผู้มีส่วนได้เสียรอบด้าน เพื่อ

- กำหนดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่สำคัญ (material ESG risks)

- ประเมินแนวโน้มผลกระทบที่อาจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร

- ในกรณีที่เกิดผลกระทบทางลบที่มีความสำคัญและมีนัยสำคัญ (material and significant) ธนาคารควรพิจารณาข้อกังวลของทุกภาคส่วนที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากกิจกรรมที่ธนาคารให้การสนับสนุนทางการเงิน
การขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายให้สำเร็จ จำเป็นต้องทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่พนักงานไปจนถึงลูกค้า เดินไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นธนาคารควรกำหนดเป็นนโยบายและมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน โดยธนาคารจะต้อง

- กำหนดนโยบายและกระบวนการภายในสำหรับจัดการกับความเสี่ยง ESG ที่สำคัญในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อ โดยนโยบายและกระบวนการภายในเหล่านี้ควรไปไกลกว่าการทำตามกฎหมาย (legal compliance) เพื่อสะท้อนมาตรฐานและกรอบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดี

- หาความเชื่อมโยงระหว่างความเสี่ยง ESG และความเสี่ยงทางการเงินของธนาคาร เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในของธนาคาร

- หารือกับลูกค้าเพื่อช่วยพวกเขาลดผลกระทบเชิงลบจากนโยบายของธนาคาร รวมถึงช่วยปรับปรุงผลงานด้านความยั่งยืนของบริษัทที่ธนาคารให้การสนับสนุน

- ระบุและจัดการกับความเสี่ยง ESG ในพอร์ตสินเชื่อ
ส่วนที่ 3 เนื่องจากความเสี่ยง ESG ถือว่าป็นเรื่องใหม่สำหรับธนาคาร ผู้รับผิดชอบที่มีความเข้าใจความเสี่ยงดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้นธนาคารจะต้อง

- จัดสรรทรัพยากรและกำหนดบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนในการสนับสนุนการปฏิบัติตามกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อที่รับผิดชอบ

- มีผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบการปฏิบัติตามกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อที่รับผิดชอบ

- พัฒนาศักยภาพของผู้บริหารระดับสูงและพนักงานในประเด็นด้าน ESG และความยั่งยืน
ส่วนสุดท้าย เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ธนาคารควรเปิดเผยข้อมูลและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตรวจสอบการทำงานของธนาคาร ในเบื้องต้น ธนาคารจะต้อง

- เปิดเผยคำมั่น (commitment) ที่จะปฏิบัติตามแนวทางการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารและคณะกรรมการธนาคาร
- เปิดเผยข้อความ นโยบาย และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง

- เปิดเผยรายงานความคืบหน้าในการปฏิบัติงาน มาตรการที่ดำเนินการ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

ในช่องทางสาธารณะ อาทิ รายงานความยั่งยืน รายงานประจำปี หรือ เว็บไซต์ของธนาคาร
สุดท้ายนี้ ความยั่งยืนของภาคการเงินขึ้นอยู่กับความไว้วางใจจากสาธารณชน

ทุกคนต้องย้ำเตือนตัวเองว่า ความยั่งยืนเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อภาคการเงินมองกว้างและมองไกล มองข้ามผลประโยชน์ระยะสั้นของตนเอง เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจและสังคมในระยะยาว